พม.ประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ลั่นพร้อมเป็นหุ้นส่วนการทำงานภาครัฐในการพัฒนาประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นตัวจริงทำงาน สกัดแฝงหาผลประโยชน์ จ่อชงเข้า ครม.ไฟเขียว
วันที่ 31 สิงหาคม ที่โรงแรมการ์เด้น ถนนวิภาวดี กองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ... ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม 2560 โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมจากทั่วประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน จำนวน 200 คน
นายเดช พุ่มคชา ประธานอนุกรรมการด้านฐานข้อมูล ในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) กล่าวว่า เวทีรับฟังความเห็นต่อ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมฯ ในภาคประชาชนครั้งนี้เป็นครั้งแรก และเป็นสัญญาณของการสร้างกระบวนการระดมความคิดเห็นที่มีตัวแทนภาคประชาชนจาก 4 ภาคของประเทศไทยเข้าร่วม ซึ่งพบว่า ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม มีทุกกลุ่มและมีความหลากหลาย และส่วนมากให้ความสำคัญกับนิยามขององค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฝ่ายกลั่นกรองกฎหมายนั้นอาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า องค์กรภาคประชาสังคมนั้นตั้งขึ้นภายใต้เงื่อนไขได้บ้าง ซึ่งมีการถกเถียงกันเรื่ององค์กรแบบใดบ้างที่เป็นหรือไม่เป็น แล้ว พ.ร.บ.ฯ นี้จะเอื้อประโยชน์ต่อองค์กรใด ทั้งนี้จากการประเมินหรือคาดคะเนจำนวนของกลุ่มและองค์กรที่ทำงานด้านประชาสังคม ทั้งแบบองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรพัฒนาเอกชนองค์กรภาคประชาชนทุกรูปแบบรวมกันคาดว่ามีราวไม่น้อยกว่า 50 กลุ่ม ในแต่ละจังหวัดของไทย หรือมากกว่า 3,500 กลุ่มทั่วประเทศ แต่หากกฎหมายผ่านไปสู่การบังคับใช้ได้จริงอาจจะต้องมีการแยกแยะ จัดระบบเพิ่มเติม
“อธิบายกันง่ายๆนะ ช่วงนี้คือเราจะเห็นการคัดค้านการดำเนินการขององค์กรต่างๆมากมาย เช่น เอ็นจีโอบางกลุ่มโดนเอ็นจีโออีกกลุ่มมาโจมตี ว่าทำงานไม่โปร่งใส ไร้จริยธรรม ซึ่งพอมีพ.ร.บ.ฉบับนี้จะไปช่วยลดแรงต้านตรงนั้น เพราะว่าภาคประชาชนมาออกแบบกฎหมายเพื่อคุ้มครอง ป้องกัน และควบคุมกันเอง ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบกันเองได้ ในกรณีพบความผิดปกติ และทำงานร่วมกันได้ ในกรณีผลักดันเชิงนโยบายภาคประชาชน” นายเดช กล่าว
นายเดช กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม มีวัตถุประสงค์มุ่งส่งเสริมให้องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐในการพัฒนาประเทศ อันนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กำหนดแนวทางการส่งเสริมภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง มีการปฏิบัติงานอย่างมีธรรมาภิบาล สามารถพึ่งตนเองได้ และสามารถเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐในการดูแลสังคม ให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมสร้างเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ ภูมิภาค การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีจิตสาธารณะในระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร และชุมชน การสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่มีความหลากหลายด้านพื้นที่ ประเด็น กลุ่มเป้าหมาย และสังกัด เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสนับสนุนการศึกษาวิจัย การพัฒนาระบบฐานข้อมูลขององค์กรภาคประชาสังคม การจัดทำหรือการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเผยแพร่สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน
ด้านนางสุนี ไชยรส อนุกรรมการด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 คือให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกฎหมายที่จำเป็น ซึ่งผลจากการรับฟัง คือ ภาพรวมเห็นเครือข่ายประชาชนหลายกลุ่มมารวมตัวกัน เช่น เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายด้านศาสนา สิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์ ซึ่งเครือข่าย องค์กร หรือกลุ่มเหล่านี้เวลาทำงานจริงๆ นั้นจะทำแบบแยกส่วน แต่เมื่อเรามีการร่างกฎหมายขึ้นมา เราได้เห็น ได้ยินชัดว่าพวกเขาต้องการอะไร ดังนั้นหลังจากรับฟังวันนี้คณะอนุกรรมการด้านการศึกษาและพัฒนากฎหมาย จะเสนอให้ คสป.กลั่นกรอง ก่อนจะเสนอนำเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป
“ส่วนมากกังวลเรื่ององค์กรแอบแฝง ที่เป็นองค์กรของกลุ่มธุรกิจ การเมือง ที่ก่อตั้งไม่นานแต่มารับทุน รับเงินจากภาคธุรกิจ การเมืองเพื่อไปดำเนินการสนองนโยบาย ส่วนนี้คนก็ให้ความสนใจเยอะ เชื่อว่าพี่น้องภาคประชาชนที่ตั้งองค์กรเพื่อทำงานด้านสังคมจริงๆ ค่อนข้างห่วงใย ดังนั้นนิยาม ตรงนี้ เราจะต้องไปปรับปรุงให้ชัดเจนและลงรายละเอียดมากขึ้น นอกจากนั้นมีคนห่วงเรื่องอนุกรรมการ ซึ่งคนทักท้วงว่า สัดส่วนของอนุกรรมการภาครัฐมากไป และภาคประชาชนน้อยไป อยากให้เพิ่มสัดส่วนประชาชนเพราะกฎหมายนี้เป็นกฎหมายเพื่อประชาชน ซึ่งอาจจะไปเพิ่มในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมที่มีวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนาสังคมและมีผลการดาเนินงานที่หลากหลาย ซึ่งทุกความเห็นอนุกรรมการด้านการศึกษากฎหมายของเราจะไปดูและสกัดข้อมูลเพิ่มเติม” นางสุนี กล่าว
นายธนรัช ใกล้กลาง ตัวแทนจากมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า การจะออกกฎหมายให้ดีนั้นส่วนตัวมองว่าเรื่องของนิยามความหมายที่ระบุว่าองค์กรภาคประชาสังคม หมายถึงอะไรต้องพยายามสกัดองค์กรที่มาในรูปการก่อตั้งเพื่อรองรับธุรกิจสร้างกำไรในเอกชนให้ดี เพราะกลุ่มนี้มีเงินเพื่อไปทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ซึ่งหากให้เงินหรือให้กองทุนกลุ่มนี้เท่ากับไปส่งเสริมธุรกิจนั้นๆ
นายประดิษฐ์ เลี้ยงอยู่ เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา กล่าวว่า กรณีการตรวจสอบองค์กรว่าเข้าเงื่อนไของค์กรภาคประชาสังคมหรือไม่ อยากให้มีการวางเงื่อนไขชัดเจนว่า ให้เป็นองค์กรที่มีผลงานเชิงประจักษ์ และมีผลงานมานานหลายปี ไม่ใช่แค่องค์กรจัดตั้งขึ้นมาเพื่อขอรับทุนเฉพาะกิจเป็นโครงการย่อย ในส่วนของกรรมการก็เช่นกันอยากให้ระบุด้วยว่าต้องการคนมีผลงานมากน้อยเพียงใด