ดร. สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า บขส. ได้พิจารณาเปิดการเดินรถเพิ่มเติม เพื่อสอดคล้องกับแนวทางการผ่อนปรนมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น โดยเส้นทางภาคเหนือ เปิดให้บริการ 21 เส้นทาง อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ - ท่าตอน, กรุงเทพฯ- เชียงใหม่, กรุงเทพฯ - เชียงราย, กรุงเทพฯ - น่าน, กรุงเทพฯ - ทุ่งช้าง, กรุงเทพฯ - ลำปาง, กรุงเทพฯ - บ้านตาก, กรุงเทพฯ - อุตรดิตถ์, กรุงเทพฯ - แม่สอด, กรุงเทพฯ- แม่สาย, กรุงเทพฯ-ป่าแดด เชียงของ, กรุงเทพฯ - เชียงคำ, กรุงเทพฯ - จอมทอง, กรุงเทพฯ -ลี้ ลำพูน, กรุงเทพฯ -หล่มเก่า, และกรุงเทพฯ -คลองลาน เริ่มปรับตารางเดินรถตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เส้นทางเดินรถภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เปิดให้บริการ 21 เส้นทาง อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ - โขงเจียม, กรุงเทพฯ - สกลนคร, กรุงเทพฯ - มุกดาหาร, กรุงเทพฯ - นครพนม, กรุงเทพฯ - เชียงคาน, กรุงเทพฯ - บุรีรัมย์, กรุงเทพฯ - นาเชือก ร้อยเอ็ด, กรุงเทพฯ – หนองบัวลำภู , กรุงเทพฯ – ตราด, กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-สุรินทร์, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-ศรีสะเกษ, กรุงเทพฯ-รัตนบุรี และกรุงเทพฯ-สระบุรี เริ่มปรับตารางเดินรถตั้งแต่วันนี้ (3 มี.ค.64) เป็นต้นไป และ บขส. จะเปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ (เอกมัย) - แหลมงอบ (ท่าเรือเซนเตอร์พอยท์) โดยรถโดยสารจะเข้ารับผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แล้วเข้า บขส. จันทบุรี สุดเส้นทางที่แหลมงอบ ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมที่จะถึงนี้ด้วย เส้นทางภาคใต้ เปิดให้บริการ 15 เส้นทาง อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ – ตรัง - สตูล , กรุงเทพฯ – สุไหงโกลก, กรุงเทพฯ - สงขลา, กรุงเทพฯ-ยะลา, กรุงเทพฯ - ภูเก็ต, กรุงเทพฯ -หาดใหญ่ - สงขลา , กรุงเทพฯ - คลองท่อม-กระบี่, กรุงเทพฯ - เกาะสมุย, กรุงเทพฯ - นครศรีฯ-หัวไทร, กรุงเทพฯ – ตะกั่วป่า - โคกกลอย, หมอชิต2-ภูเก็ต, หมอชิต2 - หาดใหญ่ , หมอชิต2 - กระบี่, หมอชิต2 – ตรัง - สตูล, หมอชิต2 - เกาะสมุย, และหมอชิต2 - หลังสวน เริ่มปรับตารางเดินรถตั้งแต่วันนี้ (3 มี.ค.64) เป็นต้นไป ทั้งนี้ผู้ใช้บริการรถโดยสาร บขส. สามารถใช้สิทธิโครงการ "เราชนะ" ชำระค่าโดยสารรถโดยสาร บขส. ผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ได้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เช่นเดียวกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้สิทธิ์เดินทางกับรถโดยสาร บขส. ได้ภายในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังสามารถใช้สิทธิ์ ได้พร้อมกันทั้ง 2 สิทธิ์ แต่ต้องแจ้งพนักงานจำหน่ายตั๋วก่อนซื้อตั๋วโดยสาร และหากเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เพียงพอสามารถใช้เงินจากโครงการ "เราชนะ" ชำระค่าโดยสารได้อีกด้วย อย่างไรก็ดีการซื้อตั๋วรถโดยสาร บขส. โดยใช้สิทธิ์โครงการ "เราชนะ" เมื่อออกบัตรโดยสารเรียบร้อยแล้วจะไม่สามารถขอคืนตั๋ว หรือแลกเป็นเงินสดได้ แต่สามารถเลื่อนการเดินทางได้ ตามเงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนด ได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วของ บขส. ทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม บขส. ยังคงเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดฯ ภายในสถานีขนส่งผู้โดยสารและบนรถโดยสารขั้นสูงสุด ตามนโยบายของรัฐบาล และ กระทรวงคมนาคม อาทิ มีการตรวจคัดกรอง และตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสาร จัดให้มีจุดบริการแอลกอฮอล์เจล สำหรับผู้โดยสาร ภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร กำชับให้พนักงานฯ และผู้ให้บริการ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง ขอให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะใช้บริการในสถานีขนส่ง และขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารสแกนคิวอาร์โค้ดแอปพลิเคชันไทยชนะ และ "หมอชนะ" หรือกรอกข้อมูลการเดินทางตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เพื่อบันทึกประวัติการเดินทางของผู้โดยสารทุกคนในทุกเส้นทางด้วย