นักดาราศาสตร์ตั้งคำถามเกิดอะไรขึ้นกับดาวดวงนี้ทั้งที่จับจ้องอยู่ตลอด แต่อยู่ดีๆ ก็หายไป ตั้ง 2 สมมติฐาน ช่วงที่แสงสว่างเริ่มดรอปอาจมีฝุ่นมาบัง และแกนกลางอาจยุบกลายเป็นหลุมดำ ซึ่งยังเป็นปริศนาที่กำลังเร่งค้นหา เพราะอาจทำให้ตำราวิวัฒนาการดาวฤกษ์อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาต โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “ดาวฤกษ์ขนาดใหญ่หายไป … ราวกับไม่เคยมีอยู่ ในช่วงปี ค.ศ. 2001 ถึง 2011 นักดาราศาสตร์ได้เก็บข้อมูลสเปกตรัมของกาแล็กซีขนาดเล็กที่อยู่ห่างจากโลกออกไป 75 ล้านปีแสง ที่รู้จักกันในชื่อ “กาแล็กซีแคระคินแมน (Kinman Dwarf Galaxy)” เนื่องจากกาแล็กซีนี้มีขนาดเล็กและอยู่ไกลมาก จึงไม่สามารถศึกษาดาวฤกษ์แต่ละดวงในที่อยู่ในกาแล็กซีนี้ได้ ทำได้เพียงศึกษาสเปกตรัมโดยรวมของทั้งกาแล็กซี แต่อย่างไรก็ตาม ดาวฤกษ์ที่สว่างมากและมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากดาวดวงอื่น จะปรากฏเอกลักษณ์อย่างเด่นชัดบนสเปกตรัมของกาแล็กซี นักดาราศาสตร์พบว่าในกาแล็กซีนี้มีดาวฤกษ์ประเภท "ดาวแปรแสงสีฟ้าที่สว่างมาก" (Luminous Blue Variables / LBVs) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับความสว่างอย่างมาก แต่ไม่มีคาบที่ชัดเจน สามารถสว่างได้มากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 2.5 ล้านเท่า และมีสเปกตรัมที่แตกต่างไปจากดาวฤกษ์สีฟ้าทั่ว ๆ ไป ปี 2019 นักดาราศาสตร์ตรวจวัดสเปกรัมของกาแล็กซีนี้อีกครั้ง และพบว่าสเปกตรัมของดาวแปรแสงสีฟ้าดวงนี้หายไป ราวกลับว่าไม่เคยมีดาวดวงนี้มาก่อน ในขณะที่สเปกตรัมของดาวฤกษ์ยักษ์น้ำเงินดวงอื่น ๆ ยังคงปรากฏอยู่ ซึ่งเมื่อพิจารณาวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ประเภทนี้ จุดจบของมันควรจะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาที่สว่างมาก ๆ แล้วจึงจะจางหายไป คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับดาวดวงนี้ ? เนื่องจากนักดาราศาสตร์ไม่สามารถศึกษาดาวฤกษ์ดวงนี้ได้โดยตรง จึงมีความเป็นไปได้ว่าดาวฤกษ์อาจระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม สมมติฐานนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะกาแล็กซีแคระคินแมนมักจะถูกสังเกตการณ์อยู่เป็นประจำ ดังนั้น หากเกิดซูเปอร์โนวาไปแล้วจริง ๆ จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะไม่มีใครสังเกตเห็นเลย นักดาราศาสตร์ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับการเลือนหายของดาวฤกษ์อยู่สองสมมติฐาน อย่างแรกคือ ดาวฤกษ์กำลังเข้าสู่ช่วงที่แสงสว่างลดลงอย่างมาก ผนวกกับฝุ่นของกาแล็กซีที่เข้ามาบดบังพอดี จึงทำให้สเปกตรัมของดาวดวงนี้หายไป และสมมติฐานที่สองคือ วาระสุดท้ายของดาว มวลที่มหาศาลทำให้แกนกลางยุบตัวจนกลายเป็นหลุมดำโดยที่ไม่เกิดการระเบิดซูเปอร์โนวา ซึ่งการเกิดหลุมดำแบบนี้ยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่ ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้อาจสนับสนุนสมมติฐานการเกิดหลุมดำในลักษณะนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงการสังเกตการณ์ดาวฤกษ์ทางอ้อมเท่านั้น ยังไม่สามารถสังเกตการณ์โดยตรงได้เนื่องจากกาแล็กอยู่ห่างไกลจากเรามาก จึงจำเป็นจะต้องศึกษาดาวฤกษ์ประเภทนี้โดยละเอียดมากขึ้น และจำเป็นจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถศึกษาดาวฤกษ์ประเภทนี้ได้โดยตรง ซึ่งหากสมมติฐานข้างต้นเป็นจริง บทเรียนที่เคยเรียนมาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาวฤกษ์อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลง... เรียบเรียง : ศวัสกมล ปิจดี - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : [1] https://www.universetoday.com/.../astronomers-might-have.../ [2] http://nso.narit.or.th/.../2017-12-09.../2017-12-10-07-38-40