รองอธิบดีและโฆษกฯอัยการ ภาค 9 เผยยื่นฟ้องดำเนินคดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งปรับปรุงระบบไฟฟ้าโรงเรียนประถม 8 แห่ง ใน จ.สงขลา จำเลย 20 คน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้รับเหมา รอศาลตัดสิน พร้อมฝากเตือนไปยังข้าราชการให้ศึกษา และทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เพราะ จะส่งผลไปถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับในบั้นปลายของชีวิตด้วย
วันที่ 2 มี.ค. 64 จากกรณีเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ที่ทางอัยการสำนักงานปราบปรามการทุจริต ภาค 9 ยื่นฟ้องผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน 8 แห่ง ในพื้นที่ จ.สงขลา รวม 20 ราย เป็นจำเลย โดยกล่าวหาว่าในโครงการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในโรงเรียนโดยมิชอบ ซึ่งทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
และคดีนี้ได้มีการแยกฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 เป็นรายโรงเรียน รวม 8 แห่ง โดยสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีรายละเอียดรวม 18 แฟ้ม หนา 6,722 แผ่น และเมื่อยื่นฟ้องต่อศาล แต่ละโรงเรียนต้องเสนอสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงทั้งหมด รวมเป็นหนึ่งสำนวน ดังนั้น 8 สำนวน 144 แฟ้ม เอกสารรวม 53,776 แผ่น ฝ่ายอัยการจึงร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. จัดตรวจทำเอกสารให้ครบถ้วน และนำไปยื่นฟ้องต่อศาลเรียบร้อยแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ 2 มี.ค. 64 ที่สำนักงานอัยการ ภาค 9 อ.เมือง จ.สงขลา นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดี และโฆษกสำนักงานอัยการปราบปรามคดีทุจริต ภาค 9 เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 49-50 ซึ่งมีการจัดซื้อจัดจ้างผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในโรงเรียน โดยมีการยื่นฟ้องทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน เจ้าหน้าที่พัสดุ และ กรรมการเปิดซองสอบราคา รวมทั้งหมด 20 คน จาก 8 โรงเรียน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตการศึกษาที่ 1 สงขลา
และในส่วนของสำนวนคดีทาง ป.ป.ช. ได้ทำแล้วเสร็จส่งมายังอัยการ และมีการตรวจสอบความถูกต้องของสำนวน และดำเนินการยื่นฟ้องครบแล้วทั้ง 8 โรงเรียน โดยมีการทำสำนวนใหม่ แล้วแยกฟ้องเป็นรายโรงเรียนไป และเรื่องกำลังอยู่ในชั้นศาล ซึ่งขณะนี้จำเลยทั้ง 20 คน ยังไม่ได้ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด และมีสิทธิที่จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมได้ตามกฎหมายจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา สำหรับจำเลยทั้ง 20 คน แบ่งเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ 17 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 12 คน เกษียณแล้ว และอีก 3 คน ที่เหลือเป็นในส่วนของผู้รับเหมา
ซึ่งทางผู้ที่ถูกฟ้องทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริหาร ผู้อำนวยการ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโรงเรียน รวมทั้งกรรมการเปิดซอง จะมาอ้างว่าไม่เข้าใจระเบียบ หรือปฏิเสธว่า ไม่รู้ระเบียบ คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะ ในส่วนของโรงเรียน และหน่วยงานราชการอื่นๆ เมื่อมีการจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัด และแต่ละหน่วยงาน ก็จะมีเจ้าหน้าที่ด้านนี้อยู่โดยเฉพาะแล้วด้วย
นอกจากนี้ทาง รองอธิบดี และโฆษกสำนักงานอัยการปราบปรามคดีทุจริต ภาค 9 ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ทางผู้ที่รับผิดชอบควรศึกษากฎระเบียบให้ชัดเจน และสามารถสอบถามไปยังต้นสังกัดหรือทางอัยการได้ หากมีปัญหาหรือข้อขัดข้อง ซึ่งที่พบมาหลายรายทำไปเพราะ ถูกผู้บริหารหรือผู้ที่มีระดับสูงกว่าสั่งให้ทำ หรือบางกรณีคิดว่า ทำไปแล้ว แต่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้รับผลประโยชน์โดยตรง น่าจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อกลายเป็นคดีความขึ้นมา ก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายไปด้วย ทั้งในข่ายของการทุจริต และประพฤติมิชอบ
นอกจากนี้ยังได้ฝากเตือนไปถึงบรรดาข้าราชการให้ระมัดระวังทั้งในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริต ประพฤติมิชอบ และการทำผิดกฎระเบียบอื่นๆ เนื่องจากหากเป็นคดีความขึ้นมา และศาลตัดสินว่า ผิด สิทธิประโยชน์ทางราชการหลังเกษียณที่จะได้รับ ทั้งบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ ทุกอย่างจะถูกตัดสิทธิ์เรียกคืนกลับไปด้วย