ยกให้เป็นไวรัสที่มีฤทธิ์เหลือร้าย สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่โลก ยิ่งกว่าไวรัสชนิดไหนๆ สำหรับ ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เขย่าโลก จนเป็นวิกฤติโรคระบาด อาละวาดไปแทบถ้วนทั่วทุกมุมโลกเรา ด้วยจำนวนตัวเลขสะสมของผู้ป่วยติดเชื้อล่าสุด ที่ทะลักเกินกว่า 114 ล้านคน ในจำนวนนี้ ก็ถูกไวรัสโควิดฯ ปลิดชีพไปมากเกือบ 2.6 ล้านคน และยังไม่มีทีท่าว่าวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้จะยุติลงเมื่อใด โดยลำพังสถานการณ์ของโรคโควิดฯ ณ เวลานี้ ก็หนักหนาสาหัสกันพอแรงอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์หนึ่งขึ้นมา ยิ่งส่งผลให้สถานการณ์ของไวรัสมรณะชนิดนี้ เพิ่มความวิตกกังวลมากขึ้นไปอีก นั่นคือ ปรากฏการณ์ “กลายพันธุ์” ของไวรัสโควิดฯ จนกลายเป็นไวรัสโควิดฯ พันธุ์ใหม่ ซึ่งส่งผลทำให้เชื้อโควิดฯ แผลงฤทธิ์แพร่ระบาดได้ร้ายแรงกว่าเดิม ที่นับว่า การกลายพันธุจนเป็น “ไวรัสโควิด – 19 สายพันธุ์ใหม่” ที่สร้างความสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นให้แก่วงการสาธารณสุขโลก ก็เห็นจะเป็น 3 สายพันธ์มหากาฬที่กำลังเขย่าโลกในครั้งนี้ ก็ได้แก่ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “บี.1.1.7 (B.1.1.7)” หรือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่า “โควิดฯ สายพันธุ์อังกฤษ” เพราะมีต้นกำเนิดการกลายพันธุ์ในประเทศอังกฤษ แดนผู้ดี นั่นเอง ก่อนแพร่ระบาดไปตามประเทศต่างๆ รวมแล้วกว่า 90 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยเราด้วย โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “บี.1.351” หรือที่หลายคนเรียกว่า “501.วี2 (501.V2)” แต่คนส่วนใหญ่มักเรียกว่า “โควิดฯ สายพันธุ์แอฟริกาใต้” เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ก่อกำเนิดกลายพันธุ์ในประเทศแอฟริกาใต้ นั่นเอง ซึ่งไวรัสโควิดฯ สายพันธุ์ใหม่นี้ แพร่ระบาดไปแล้ว 70 ประเทศ โดยมีไทยเราอยู่ในรายชื่อด้วย และโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “พี1 (P1)” ซึ่งบางคนเรียกว่า สายพันธุ์บราซิล หรือแซมบา เพราะได้กำเนิดที่ประเทศบราซิล หรือแดนแซมบา ย่านละตินอเมริกา ทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ สร้างความสั่นสะท้านในวงการสาธารณสุขโลก เพราะพ่นพิษทำให้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสายพันธุ์ทั้ง 3 นี้ แพร่เชื้อได้รวดเร็ว ยิ่งกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมก่อนหน้าถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว ด้วยประการฉะนี้ ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ซึ่งระยะเวลาที่โควิดฯ พันธุ์ใหม่ทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ปรากฏโฉม ได้ส่งผลทำให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวัน พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ในพื้นที่ที่โควิดฯ สายพันธุ์ทั้ง 3 นี้ แผลงฤทธิ์อาละวาด นอกจากส่งผลให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทวีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาลแล้ว โควิดฯ สายพันธุ์ใหม่ทั้ง 3 ยังสร้างความหวั่นวิตกต่อวงการสาธารณสุขโลก ในด้านการสร้างระบบภูมิคุ้มกันทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันจากผู้หายป่วยโรคโควิดฯ แล้ว และการสร้างภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีกด้วย ทั้งนี้ ความเป็นห่วงกังวลข้างต้น หาใช่เพียงอารามความกลัวจากวิตกจริตของเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขโลกเท่านั้นก็หาไม่ แต่มาจากผลการติดตามศึกษาจากบรรดาผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศต่างๆ ที่เชื้อไวรัสโควิดฯ 3 สายพันธุ์นี้อาละวาด โดยการศึกษาในผู้ป่วยโควิดฯ ที่ประเทศแอฟริกาใต้ พบว่า แม้ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันขนานต่างๆ กันแล้ว ก็ยังปรากฏว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิดฯ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ถึงร้อยละ 2 ด้วยกัน เรียกว่า เชื้อโควิดฯ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ได้ลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีนลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสโควิดฯ สายพันธุ์ก่อนหน้า ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ส่วนการติดตามศึกษาสถานการณ์ในประเทศบราซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เมืองมาเนาส์ รัฐอามาโซนัส ทางตอนเหนือของประเทศ พบว่า จำนวน 3 ใน 4 ของประชากรเมืองนี้ ติดเชื้อไวรัสโควิดฯ ซ้ำสองโดยเชื้อโควิดฯ ที่ตรวจพบว่า ติดเชื้อซ้ำนนั้น เป็นสายพันธุ์ใหม่ คือ “พี1 (P1)” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ถิ่นกำเนิดในบราซิล นั่นเอง เรียกว่า ล้มล้างทฤษฎีที่กล่าวอ้างก่อนหน้านี้ว่า เมื่อติดเชื้อไวรัสโควิดฯ ไปครั้งหนึ่ง และรักษาหาย ก็จะมีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคชนิดนี้ไประยะหนึ่ง เช่นเดียวกับ ผลการติดตามศึกษาในสหรัฐฯ ก็พบว่า นาวกโยธินในศูนย์ฝึกอย่างน้อยร้อยละ 10 ติดเชื้อไวรัสโควิดฯ ซ้ำ ในกลุ่มนาวิกโยธิน ที่เคยติดเชื้อไวรัสโควิดฯ มาแล้วก่อนหน้า โดยสายพันธุ์ของไวรัสโควิดฯ ที่ตรวจพบซ้ำสองนี้ ก็เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ไปจากเดิม จนสามารถหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกัน แผลงฤทธิ์ติดเชื้อซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ทั้งนี้ ในการศึกษาจากกลุ่มผู้ติดเชื้อซ้ำสองพวกนี้ ก็ยังพบด้วยว่า มักจะมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการเลย ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อหลายคน คิดว่าตนไม่ได้ป่วย และไม่ได้กักโรค ก็เป็นที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก ที่จะเป็นผู้แพร่เชื้อโรคให้แก่คนอื่นๆ ผลจากการกลายพันธุ์ จนเป็นสายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโควิดฯ ก็ทำให้บรรดาบริษัทผู้ผลิตทั้งหลาย ต้องวิจัยพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้วัคซีนของพวกเขา สามารถใช้ป้องกันไวรัสโควิดฯ พันธุ์ใหม่สายพันธุ์ต่างๆ ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนรายหนึ่ง ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ ที่ปัจจุบันผันตัวเองไปร่วมงานกับบริษัทไฟเซอร์ฯ กล่าวว่า อาจจะต้องใช้เวลาราว 4 – 6 เดือน เลยทีเดียว สำหรับการวิจัยพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพรับมือกับโควิดฯ สายพันธุ์ใหม่ต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องอนาคตใช้เวลานานอีกหลายเพลา อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงการรับมือเฉพาะหน้า ณ เวลานี้ บางบริษัท เช่น ไฟเซอร์ สหรัฐฯ และไบโอเอ็นเทค เยอรมนี ก็มีข้อแนะนำออกมาว่า อาจจะต้องฉีดวัคซีนกันถึง 3 โดสเลยทีเดียว คือ สองโดสแรกฉีดตามปกติ คือ 20 – 30 ไมโครกรัม ส่วนโดสที่ 3 ฉีดในปริมาณ 30 ไมโครกรัม ห่างจาก 2 โดสแรกราว 6 – 12 เดือน ส่วนวัคซีนของโมเดอร์นา ก็แนะนำเช่นกันว่า อาจต้องฉีดถึง 50 ไมโครกรัมในโดสที่ 3 หลังจากฉีดไปแล้ว 2 โดสแรก โดสละ 100 ไมโครกรัม สำหรับการเสริมสร้างประสิทธิภาพรับมือกับไวรัสโควิดฯ สายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังเป็นฝันร้ายให้แก่หลายๆประเทศทั่วโลกกับสถานการณ์แพร่ระบาดอาละวาดอย่างหนัก ควบคู่ไปกับคำแนะนำให้ตระหนักถึงการสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และการหมั่นล้างมือบ่อยๆ มิให้โรคร้ายมากล้ำกรายได้ง่ายๆ