ชาวเกาะยอสร้างประติมากรรม "ปลากะพงขาว" จุด check Point และเสาไฟฟ้าภายในบริเวณเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ริมทะเลสาบสงขลา สร้างสีสันการท่องเที่ยวเกาะยอ มูลค่า 29 ล้านบาทโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ติดกับเชิงสะพานติณสูลานนท์ ที่ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา
เนื่องจากตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสงขลา ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักของชุมชนชาวเกาะยอ โดยชาวบ้านที่ยึดอาชีพนี้จะใช้เครื่องมือประมงที่สืบทอดกันมายาวนาน และความได้เปรียบเชิงนิเวศทางธรรมชาติอันมาจากทะเลสาบสงขลา มีสภาพน้ำ 3 น้ำได้แก่ น้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย จึงทำให้ปลากะพงขาวที่เกาะยอ เป็นปลากะพงขาว 3 น้ำ มีรสชาติที่อร่อยกว่าที่อื่น แล้วถือเป็นโอกาสที่ชาวบ้านเกาะยอ สามารถเลี้ยงปลากะพงในกระชังได้อย่างมีคุณภาพ จัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสงขลา ด้วย
ทำให้ชาวเกาะยอยังคงใช้เอกลักษณ์ปลากะพงขาว สร้างประติมากรรมบริเวณเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ที่เพิ่งสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วโดยมี ประติมากรรมปลากะพงขาว ที่ถือว่าเป็นจุด check Point ที่โดดเด่น 2 จุด ประติมากรรมจุดแรก อยู่บริเวณหัวเขื่อนติดกับสะพานติณสูลานนท์ เป็นรูปปลากะพงขาวขนาดใหญ่ 2 ตัว อยู่บนเกลียวคลื่น บริเวณแท่นจะมีผลไม้ขึ้นชื่อของเกาะยอก็คือ จําปาดะเกาะยอ และละมุดหรือสวาเกาะยอ ซึ่งเป็นของดีเกาะยอ รวมอยู่ในประติมากรรม จุดที่ 1 นี้ รถยนต์ที่วิ่งผ่านสะพานติณสูลานนท์ เข้ามาที่เกาะยอ สามารถมองเห็นความสวยงามได้อย่างชัดเจน เต็มบริเวณเขื่อนในมุมสูง
ส่วนปฏิมากรรมจุดที่ 2 จะมีปลากะพงขาว 4 ตัว กระโดดจากผิวน้ำขึ้นมา พันกันเป็นเกลียวอย่างสวยงาม อยู่ริมเขื่อนติดทะเลสาบสงขลา ที่สามารถมองเห็นกระชังเลี้ยงปลากะพงขาว เรียงรายอยู่ด้านหลัง ประติมากรรม 2 จุดนี้ ถือเป็นจุด check Point ของบริเวณเขื่อนแห่งนี้ ที่มีความสวยงามของประติมากรรม ปลากะพงขาวทั้ง 2 จุด
เพื่อสร้างสีสัน ให้กับนักท่องเที่ยว ได้เข้ามาถ่ายภาพ ในบริเวณนี้ไว้เป็นที่ระลึก เมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวที่เกาะยอ บริเวณเขื่อนด้านหลังวัดแหลมพ้อ ติดกับทะเลสาบสงขลา ซึ่งได้มีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ที่มีความสวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่ง ในพื้นที่ตำบลเกาะยอ นอกเหนือจากมีพระนอนขนาดใหญ่ รวมทั้งประติมากรรมปลากะพงขาวเดิมที่มีอยู่แล้ว
นอกจากนั้น ยังมีสิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ เสาไฟฟ้าปลากะพงขาว ที่มีปลากะพงขาวสีทองทุกตัว อยู่บนเสาไฟฟ้าและมีโคมไฟห้อยลงมาจากปากปลากะพงขาวของเสาไฟฟ้าทุกต้น ที่สร้างความโดดเด่นให้กับเสาไฟฟ้าปลากะพงขาว เต็มพื้นที่ประมาณ 50 ต้น เพื่อให้ความสว่างไสว บริเวณเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ประชาชนสามารถมาเดิน-วิ่ง ออกกำลังกายบริเวณนี้ได้ พร้อมทั้งได้เห็นทะเลสาบสงขลาอย่างชัดเจน ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน เพื่อช่วยสร้างสีสันให้กับชาวเกาะยอ ได้มีแหล่งพักผ่อน ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวบริเวณเขื่อนแห่งนี้ได้ทุกเวลา แม้ในช่วงเวลากลางคืน เนื่องจาก มีแสงไฟส่องสว่างจากเสาไฟฟ้าปลากะพงขาวและจุดนี้ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว เข้ามาท่องเที่ยว บริเวณเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ได้เป็นอย่างดี
วัดแหลมพ้อ หรือวัดพระนอน ซึ่งตั้งอยู่เชิงสะพานติณสูลานนท์ หมู่ 4 ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา ริมทะเลสาบสงขลาในช่วงฤดูมรสุมคลื่นลมจะแรงและกัดเซาะชายฝั่งเพราะบริเวณวัดอยู่ติดกับทะเลสาบสงขลาได้รับผลกระทบมาตลอดพื้นที่ชายฝั่งถูกคลื่นกัดเซาะเข้าไปเรื่อยๆทุกปี ตั้งแต่บริเวณเชิงสะพานติณสูลานบนจนถึงสุดเขตวัดแหลมพ้อ โดยแนวตลิ่งบริเวณท่าเทียบเรือของวัดอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมทำให้การขึ้น-ลงเรือบริเวณท่าเทียบเรือไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย
ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดงบประมาณ 29 ล้านบาทเป็นงบผูกพัน 2 ปี ทำการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ระยะทางประมาณ 230 ม. พื้นที่บริเวณวัดแหลมพ้อที่ติดทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่บริเวณเชิงสะพานติณสูลานนท์จนถึงสุดเขตวัดแหลมพ้อ ตำบล เกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา โดยขณะนี้ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว