วันที่ 1 มี.ค.64 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้เขียนบทความเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ” ปฏิรูปจริงหรือไม่ ประชาชนได้อะไร? ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เป็นกฎหมายปฏิรูปที่รัฐบาลเสนอรัฐสภาประชุมร่วมกันระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่านวาระ 1 และอยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญขณะนี้ ได้ถูกตั้งคำถามว่า “ประชาชนได้ประโยชน์อะไร? ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจะดีขึ้นหรือไม่? ตำรวจต้องจะรับใช้ผู้มีอำนาจหรือรับใช้ประชาชน? หากพิจารณาเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะมีโครงสร้างเนื้อหาส่วนใหญ่เหมือน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547แต่ปัจจุบันได้ถูกแก้ไขเนื้อหาโดยประกาศ คสช และคำสั่ง หน.คสช รวมกันจำนวน 7 ฉบับ ทำให้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ถูกทำลาย ระบบไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการตำรวจและประชาชนได้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…. มีความด้อยกว่าพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 หลายประการ อาทิ การยกเลิก “คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ” ถือว่าเป็นการยุบคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจของ กทม ต่างจังหวัด และสถานีตำรวจต่าง ๆ (กต.ตร.) ไป ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าใจปัญหาและความต้องการชุมชน มีการแก้ปัญหาเป็นอย่างดีเป็นรูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ไปยุบรวมและเพิ่มอำนาจให้ “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร” ตามมาตรา 14 จำนวน 16 คนที่มีคนภายนอกถึงจำนวน 10 คน (อดีตข้าราชการตำรวจ 5 คน) มีอำนาจมากที่สามารถแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายและครอบงำสำนักงานตำรวจได้ เป็นต้น ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอฯ ใหม่ไม่มีเนื้อหาเพื่อประชาชนเลย ทั้งที่ตำรวจไทยได้สถาปณาขึ้นจากปรัชญา “ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ” เนื้อหาใหม่ทำให้เปลี่ยนปรัชญาเป็น “ตำรวจคือตำรวจ ประชาชนคือประชาชน” จึงไม่ถือว่าเป็นการปฏิรูป สภาพปัญหาขององค์การตำรวจไทยจำทำนายว่าจะมีแต่ทรง กับทรุด และทรุด ต่อไป การวิเคราะห์ภารกิจและบทบาทของตำรวจ ตามหลักการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย ยังมีความคลุ่มเครือระหว่างความเชื่อกับความเป็นจริง ส่วนตัวเคยวิเคราะห์และสำรวจภารกิจตำรวจนครบาลในรอบ 24 ชั่วโมงต่อ 1 วัน และในรอบ 7 วันต่อ 1 สัปดาห์ พบว่างานตำรวจแยกได้ 3 ประเภท คือ 1. งานเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรม คืองานสายตรวจ งานสืบสวน และงานสอบสวน 2. งานเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย คือเป็นงานที่ยังไม่มีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น แต่ถ้าปล่อยไว้อาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมขึ้น เช่นคนเมาสุราในที่สาธารณะ การควบบคุมสถานบริการ แหล่งอบายมุข หรือการรวมตัวกลุ่มผู้ต้องสงสัยในที่เปลี่ยว เป็นต้น 3. งานบริการสาธารณะ ได้แก่งานบริการด้านการจราจร งานบริการผู้สูงอายุหรือนักเรียนข้ามถนน งานบริการที่ซับซ้อนอื่น ๆ รวมถึงดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในหลักการจัดทำกฎหมายจะต้องประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญคือ 1. สภาพภายนอกองค์กรตำรวจ ได้แก่ประชาชน และสภาพแวดล้อมอื่นทีมีอิทธิพลต่อตำรวจ อาทิสิทธิมนุษยชน การกระจายอำนาจการปกครอง การเปลี่ยนแปลงทางเศษฐกิจสังคม กระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ และปัญหาความต้องการในการปกป้องคุ้มครองประชาชน ที่ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติไม่มีการกล่าวถึงเลย 2. สภาพภายในองค์กรตำรวจ โครงสร้างองค์กรตำรวจตาม ร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่เสนอ มีข้อสังเกตความไม่เหมาะสม คือ -ตำแหน่งชั้นยศตั้งแต่ รองผู้บังคับหมู่ถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวนมากถึง 13 ตำแหน่ง (มาตา 45 และมาตรา 69 ) ที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ตำแหน่ง ผบ หมู่ (12) และตำแหน่งรอง ผบ.หมู่ (13) หรือระดับพลตำรวจถึงนายดาบตำรวจ ที่มีจำนวนตำแหน่งมากกว่า 2 แสนตำแหน่ง หรือมีตัวคนครองตำแหน่งประมาณ 1.4 แสนคน หรือประมาณมากกว่า 70% ของข้าราชการตำรวจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นตำแหน่งที่ทำงานหนัก ต้องใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์มากอยู่กับปัญหาและใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ไม่ได้รับประโยชน์จาก ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ เลย และการจัดโครงสร้างองค์กรตำรวจ ยังเป็นระบบการบังคับบัญชาแบบทหารเป็นขั้นๆ ที่ยืดยาวทั้งที่งานตำรวจกับงานทหารแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง งานตำรวจเป็นงานใช้ดุลพินิจตามลำพังของตำรวจสายตรวจ สายสืบ ที่อยู่กับตรอก ซอกซอย บ้านเรือน ชุมชน หมู่บ้านต้องแก้ปัญหาโดยลำพัง ภายใต้บทบัญญัติกฎหมาย และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ต้องตอบสนองปัญหาความต้องการประชาชนผู้เป็นเหยื่อความไม่ปลอดภัย ส่วนงานสอบสวนต้องมีความเป็นอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดความบริสุทธ์จากพยานหลักฐาน เป็นรายงานขึ้นข้างบน แต่งานทหารจะสั่งการจากผู้บังคับบัญชาจากข้างบนลงล่าง จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง -โครงสร้างองค์กรตำรวจที่ล้าสมัย ไม่ได้เกิดเพื่อประชาชน ที่งานตำรวจทั้งหมดเสร็จสิ้นที่สถานีตำรวจ ส่วนงานที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน ที่เหตุเกิดเกี่ยวกันในหลายพื้นที่ที่จำเป็นให้ส่วนกลางรับผิดชอบ ได้มีกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจสันติบาล และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยงานสนับสนุนแล้ว เห็นว่าตำแหน่งและชั้นยศในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ มากเกินไป โครงสร้างจึงไม่ได้เกิดจากปริมาณงาน ไร้เป้าประสงค์ -งานหลักที่เป็นกระดูกสันหลังของงานตำรวจก็คือโรงพัก สิงที่ต้องปฏิรูปคือสถานีตำรวจ กับบุคลากรตำรวจที่ปฏิบัติงานยังสถานีตำรวจ และหน่วยงานกลางที่ทำงานหลักด้านปัญหาอาชญากรรม กรณีสถานีตำรวจ ที่งานตำรวจจะเริ่มและจบที่สถานีตำรวจ ข้อเสนอในการปฏิรูปแก้ไข ร่าง พ.ร.บ. ตำรวจ เรียวว่า “5 ส. และ 2 ต” คือ ส. ที่ 1 “สิทธิ์ของประชาชนได้เป็นเจ้าของตำรวจ” จะต้องทำยังไงจะให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนเป็นตำรวจของประชาชนในการกำหนดภารกิจบทบาทอำนาจหน้าที่เพิ่มในมาตรา 6 ดังนี้ (4) “รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักรเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน” (6) แก้ไขถ้อยคำ “ช่วยเหลือการพัฒนาประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย” แก้ไขเป็น “บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และดูแลรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ” ส. ที่ 2 “สายตรวจ” คืองานป้องกันอาชญากรรม และการรักษาความสงบเป็นหน้าที่ตำรวจสายตรวจ ต้องให้ความสำคัญ ถือเป็นกระดูกสันหลังของตำรวจ จะต้องได้รับการพัฒนา ฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้ความสามารถและมีเส้นทางการเจริญก้าวหน้าถึง ผบ.ตร.ได้ ส. ที่ 3 “สายสืบ” ตำรวจสายสืบเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน เพื่อทราบการกระทำผิด และรักษาความไม่สงบเรียบร้อย จะต้องได้รับการพัฒนา ฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้ความสามารถ และมีเส้นการเจริญก้าวหน้าถึง ผบ.ตร.ได้ ส. ที่ 4 “สอบสวน” จะต้องได้รับการพัฒนา ฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้ความสามารถ และมีเส้นการเจริญก้าวหน้าไปเทียบเคียง อัยการ ศาล และองค์กรอิสระอื่น สามารถมีความเจริญก้าวหน้าถึง ผบ.ตร.ได้ เนื่องจากงานสอบสวนตำรวจ ที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐาน พิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธ์ เป็นจุดเริ่มของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นงานหนักมาก ปัญหาเฉพาะหน้าของงานสอบสวนที่ถูกละเลย คือ ป.วิ.อาญา มาตรา 140 ที่บัญญัติว่าเมื่อการสอบสวนเสร็จ ให้ “พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ” หรือผู้เป็นหัวหน้า มีความเห็น “สั่งฟ้อง หรือสังไม่ฟ้อง หรืองดการสอบสวน” คือรากเหง้าของปัญหาความเป็นธรรม และไม่อิสระของพนักงานสอบสวนเพราะให้อำนาจกับคนคนเดียว แม้คดีตั้งเป็นคณะพนักงานสอบสวนมากถึง 10,000 คน ทุกคนมีความเห็นสั่งฟ้อง แต่ถ้าผู้เป็นหัวหน้า อาจเป็น ผบ.ตร. หรือผู้บัญชาการตำรวจ หรือผู้การตำรวจ หรือผู้กำกับการตำรวจ ตามที่มีระเบียบมอบหมาย สามารถมีความเห็นต่างจากคณะพนักงานสอบสวนที่สั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง หรืองดการสอบสวนได้ ไม่มีการถ่วงดุลแต่อย่างใด จำเป็นต้องแก้กฎหมาย ป.วิ.อาญ อาจเหมือนลักษณะศาลปกครองให้เป็นองค์คณะ อีกประการ พนักงานสอบสวนเสร็จแล้ว ส่งสำนวนให้อัยการจะหมดอำนาจสอบสวนเลย พนักงานสอบสวนจะสอบในคดีนั้นได้ต่อเมื่อพนักงานอัยการสั่งให้สอบเพิ่มเติม เมื่ออัยการเป็นสั่งฟ้องนำตัวไปฟ้องศาล ถ้าสั่งไม่ฟ้องสำนวนไปที่ ผบ.ตร. กับ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ว่าจะมีความเห็นแย้งพนักงานอัยการหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับพนักงานสอบสวน จำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลขึ้น ส. ที่ 5 “สวัสดิการและงบประมาณ” ที่เหมาะสมและดำรงตนอยู่ได้ ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับงบประมาณค่อนข้างมากที่นำไปลงทุนในภารกิจไม่ใช้งานตำรวจ รวมถึงขนาดซื้อเครื่องบินที่นักธุรกิจใช้เป็นเครื่องส่วนตัว จะเป็นต้องมีการปฏิรูประบบงบประมาณตำรวจ ให้ใช้ในเป้าประสงค์ภารกิจตำรวจที่ขาดแคลน และสวัสดิการในการดำรงชีพ ปฏิรูปอีก “2 ต.” คือ ต ที่ 1 “แต่งตั้ง” ระบบการแต่งตั้งที่เป็นธรรมต้องแก้ไขมาตรา 14 คณะกรรมการ ก.ตร ที่ต้องมีตัวแทนของประชาชน และมีสัดส่วนให้ข้าราชการตำรวจทุกคนในจำนวน 2 แสนคนมีส่วนร่วมด้วย ที่เปิดกว้างให้ผู้มีความรู้ ความสามารถเป็น ก.ตร.ได้ และต้องสร้างความเป็นธรรมให้ข้าราชการตำรวจทุกคน โดยเฉพาะตำรวจส่วนใหญ่ประมาณ 2 แสนตำแหน่ง ตามมาตรา 69 (12)(13) วรรค 5 วรรค6 และมาตรา 73 (3) ต ที่ 2 “ตรวจสอบและประเมินผล” การใช้อำนาจของตำรวจละกฎหมายที่ให้ตำรวจปฏิบัติซึ่งมีโทษทางอาญาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ หลักสิทธิมนุษยชนต้องเร่งแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้มีการตรวจสอบประเมินผลโดยประชาชนหรือชุมชนพื้นที่ อัตลักษณ์ตำรวจต้องคงไว้ อัตลักษณ์วัฒนธรรม และค่านิยมที่ดีงามของตำรวจด้านคุณธรรมในวิชาชีพตำรวจต้องคงไว้และในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ไม่มีปรากฏชัดเจนในเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ที่สำคัญคือ อุดมคติตำรวจ (เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปราณีต่อประชาชน …ไม่มักมากในลาภผล ดำรงตนในความยุติธรรม…ฯ ) และคำปฏิญาณตำรวจ (…ข้าพเจ้า จะยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อระงบทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชนตามหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษกร์…ฯ) ที่ต้องมีเป็นหลักตำรวจต้องยึดมันประจำใจไว้ ปัญหารากเหง้าของตำรวจที่มีมาถึงปัจจุบัน ที่สำคัญ คือ 1. หลักคิดปรัชญาและอุดมการณ์ของตำรวจได้เปลี่ยนแปลงไปจาก “ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ หรือการรักษาความสงบคือประชาชน ประชาชนคือผู้รักษาความสงบ” ซึ่งโจเซฟ กัปตันซามูเอล โจเซฟ โรเบริต ชาวอังกฤษที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงให้มาปฏิรูปตำรวจในครั้งแรก ที่ยังเป็นปรัชญาสมัยใหม่ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เปลี่ยนไปจากรับใช้ประชาชนเป็นการรับใช้ผู้มีอำนาจและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม 2. อิทธิพลอำนาจเผด็จการของนักปฏิวัติ รัฐประหาร และอิทธิพลทางการเมืองระดับประเทศครอบงำ ดึงตำรวจที่เคยเป็นตำรวจของประชาชนไปอยู่ในมือของผู้มีอำนาจ 3.ภาวะผู้นำตำรวจ อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่การปฏิวัติยึดอำนาจ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ตำรวจถูกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ และผู้มีอำนาจจะไม่ไว้วางใจต้องแต่งตั้งพวกพ้องเป็น อธิบดีกรมตำรวจ (อ.ตร) หรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร ) ในปัจจุบัน ล้วนต้องได้รับความเชื่อใจส่วนตัวจากผู้มีอำนาจก่อนและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ภาวะผู้นำตำรวจจึงอ่อนแอ ถูกผู้มีอำนาจใช้เป็นเครื่องมือ การรัฐประหารเมื่อปี 2557 ประกาศและคำสั่ง หน คสช ก็ให้อำนาจ ผบ.ตร แต่งตั้งโยกย้ายเพียงคนเดียว ทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลตำรวจ ที่ถูกพัฒนามานานเป็นระบบคุณธรรม ได้พังทลายหายไป อำนาจตรวจสอบถ่วงดุลไม่มี ภารกิจหลักของตำรวจในการรักษาความสงบสุข ที่เป็นสุดยอดความปรารถนาของประชาชน ถูกเปลี่ยนเป็นอิทธิพลของผู้มีอำนาจ ปรัชญาของตำรวจไทยที่ดีงามในอดีต ที่ว่า “ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ” ได้สูญหายไป 4.ปัญหากฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาทุกฉบับ มีกฎหมายจำนวนมากที่ขัดหลักการสิทธิมนุษยชน ต้องการบังคับกดทับให้คนในสังคมอยู่ในความสงบเรียบร้อย ที่กฎหมายมักจำกัดการสิทธิเสรีภาพไม่เป็นประชาธิปไตย ตำรวจจึงถูกมองว่าเป็นผู้รับใช้ผู้มีอำนาจไม่รับใช้ประชาชน เช่น พรบ. ฉุกเฉินในมาตรา 16 ที่ให้อำนาจไปจับกุมคุมขัง จำกัดสิทธิเสรีภาพ คุ้มครองไม่สามารถฟ้องศาลปกครองไม่ได้ เป็นต้น 5. การแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นระบบอุปถัมภ์ มีการมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตำแหน่ง มีการสำรวจพบว่าตำรวจชั้นประทวนที่ทำงานในภูมิลำเนาบ้านเกิดจะมองว่า ทำอย่างไรให้สังคมมีความสุข แต่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ทำอย่างไรให้ตำแหน่งของเราอยู่ ทำยังไงให้รักษาตำแหน่งหรือไปตำแหน่งที่ดีขึ้น เพราะว่าความมั่นคงไม่ได้อยู่ที่ประชาชนแต่อยู่ที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ภายหลังจากการปฏิวัติยึดอำนาจครั้งแรกปี 2490 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ตำรวจจะถูกแทรกแซงและใช้เพื่อผู้มีอำนาจ ขจัดผู้ขัดแย้งกับผู้มีอำนาจมาโดยตลอด แม้ปัจจุบันใช้ตำรวจในภารกิจควบคุมและสลายการชุมนุม ที่เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้กฎหมายเล็กอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและเหนือความยุติธรรม หวังผลการจับกุม คุมขังจำกัดอิสรภาพ ข่มขู่ ให้ออกจากสังคม ไม่ได้หวังผลในการสั่งฟ้องผู้กระทำผิดตามกระบวนการยุติธรรม มุ่งรักษาความสงบเพื่อให้ผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศ ไม่ได้มุ่งความยุติธรรมและความเสมอภาคเท่าเทียม ภาพพจน์ตำรวจตกต่ำมาก จึงเกิดเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ ร่าง พรบ ตำรวจที่รัฐบาลเสนอรัฐสภาพิจารณา ยังไม่ถือว่าเป็นการปฏิรูปแต่อย่างใด สิ่งสำคัญที่สุดที่หายไป ที่เสนอ คือ “ประชาชน” ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด และความยุติธรรมที่ตำรวจทุกคน งานตำรวจไม่ได้ทำงานในสุญญากาศ แต่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนและสังคมทุกสาขาอาชีพ และวิชาชีพทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการปฏิรูปตำรวจ ดังนั้น ความหวังที่จะนำตำรวจเป็นของประชาชน จึงฝากไว้กับกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา ต้องถือเป็นโอกาสและสิ่งท้าทายต้องช่วยกันปฏิรูปตำรวจเพื่อประชาชน พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ