GISTDA เผยข้อมูลภาพจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 พบจุดความร้อนทั้งประเทศมากถึง 4,504 จุด โดยพบมากสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 2,017 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,511 จุด พื้นที่เกษตร 382 จุด พื้นที่เขต สปก. 338 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 239 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 17 จุด ข้อมูลภาพจากดาวเทียม พบว่าจุดความร้อนที่เกิดขึ้นมีการจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก โดยจังหวัดกาญจนบุรี พบจุดความร้อนมากที่สุด 646 จุด รองลงมาเป็นจังหวัดลำปาง 465 จุด และจังหวัดตาก 344 จุด ตามลำดับ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรตามลำดับ เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่และเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตร สำหรับภาคใต้ พบจุดความร้อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนสถานการณ์ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง ทำให้การสะสมของฝุ่นละอองและหมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยพบมากสุดในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์สูงถึง 4,398 จุด และราชอาณาจักรกัมพูชา 1,187 จุด ทำให้พื้นที่ที่อยู่บริเวณตะเข็บชายแดนดังกล่าว ต้องเฝ้าระวังด้านหมอกควันที่อาจพัดข้ามแดนเข้ามาได้อย่างต่อเนื่องและอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้ GISTDA ยังติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://fire.gistda.or.th