ขอนแก่นร้อนมาก แพทย์เตือนประชาชนระวังโรคอุจจาระร่วง-ผิวหนังและโรคทางเดินหายใจ พร้อมเฝ้าระวังตนเองอย่างเข้มงวด ย้ำชัด กินร้อน-สุก-สะอาด อาหารค้างคืนหรือวางทิ้งไว้เกิน 2 ชั่วโมงห้ามรับประทานเด็ดขาด เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 1 มี.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ รพ.ขอนแก่น ยังคงมีประชาชนทยอยมาตรวจสุขภาพและรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในระยะนี้ที่ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนอย่างเป็นทางการทำให้สภาพอากาศโดยทั่วไปของจังหวัดขอนแก่นมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อุณหภูมิล่าสุดเช้าวันนี้ในเขตเทศบาลนครขอนแก่นวัดได้ที่ 32 องศาเซลเซียส พญ. อุษณีย์ ศรีร่มโพธิ์ทอง แพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า โรคที่มากับหน้าร้อนที่ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนอย่างเป็นทางการและขอนแก่นมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือโรคอุจจาระร่วง ท้องเสียและอาหารเป็นพิษ ซึ่งพบจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากทุกปี ซึ่งจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา พบว่าขณะนี้มีตัวเลขผู้ป่วยที่ป่วยด้วยกลุ่มโรคดังกล่าวในจำนวนมาก โดยที่กลุ่มผู้ป่วยที่ป่วยมากคือกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยทำงาน ดังนั้นการป้องกันตนเองด้วยการรับประทานอาหารที่สุก ไม่ดิบและเน้นหนักในเรื่องของความสะอาดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและห้ามละเลย “ การรับประทานอาหารที่สุก กินร้อน ช้อนส่วนตัว และเน้นหนักถึงความสะอาดของร้านที่ไปใช้บริการในช่วงหน้าร้อนนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดสด ซึ่งหากไปดูที่เขียงเนื้อ เขียงหมู เขียงไก่ หรือแม้กระทั่งเขียงต่างๆที่พ่อค้า-แม่ค้า จำหน่ายสัตว์ต่างๆจะพบว่ามีกลุ่มเชื้อโรคที่ส่งผลต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษอย่างมาก ดังนั้นพ่อค้า-แม่ค้า จึงจำเป็นจะต้องทำความสะอาดพื้นที่ของการจำหน่ายและรักษาความสะอาดของร้านและพื้นที่ปรุงอาหารและพื้นที่จัดเก็บอาหารตลอดทั้งช่วงหน้าร้อนนี้อย่างจริงจังด้วย รวมไปถึงโรคผิวหนัง โรคระบบทางเดินหายใจเพราะแสงแดดที่แรงจัดกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในระยะนี้ ที่ตัองเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดในระยะนี้” พญ.อุษณีย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับอาหารค้างคืนที่เก็บรักษาที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรืออาหารที่ปล่อยทิ้งไว้นานเกินกว่า 2 ชั่วโมง ในกลุ่มนี้จัดเป็นสถานที่แพร่เชื้อได้ง่าย ขณะเดียวกันเนื้อสัตว์ที่ซื้อมาจากตลาดหรือซื้อมาจากร้านค้าต่างๆ ก่อนนำมาปรุงอาหารก็จะต้องทำความสะอาดอีกครั้งเพื่อความปลอดภัย รวมไปถึงการทำความสะอาดมือก่อนปรุงอาหารหรือจับต้องอาหารก็เป็นวิธีป้องกันที่สำคัญด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีแพทย์ย้ำกับพ่อ-แม่ มือใหม่เสมอว่า ในระยะนี้ควรงดการนำน้ำส้มให้เด็กอ่อนหรือเด็กเล็กรับประทาน เพราะอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องเสีย ได้ง่ายอีกด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการก็จะต้องให้รับประทานเกลือแร่เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับร่างกาย รวมทั้งการรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีทันที