ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : นำเกร็ดประวัติและผลงาน นายสำเริง แดงแนวน้อย หรือที่ในแวดวงช่างสิบหมู่เรียกท่านว่า “ปู่จิ๋ว” ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-แกะสลักไม้) พุทธศักราช 2563 ล่าสุด นำคำประกาศเกียรติคุณฯ และภาพ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักทางสาธารณชนกันมากขึ้น นายสำเริง แดงแนวน้อย หรือ “ปู่จิ๋ว” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-แกะสลักไม้) พุทธศักราช 2563 เกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 82 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ได้เข้าศึกษาวิชาช่างไม้ที่โรงเรียนช่างไม้วัดสระเกศ (ปัจจุบันคือวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร) จากนั้นได้ศึกษาเกี่ยวกับงานด้านช่างเขียนและงานแกะสลักไม้เพิ่มเติมจากคุณลุง ครูมงคล เหมศรี จนได้รับถ่ายทอดองค์ความรู้มาทั้งการเขียนแบบ งานไม้ งานช่างเขียน และงานแกะสลัก เริ่มเข้ารับราชการที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร พ.ศ. 2528 จนเกษียณอายุราชการ พ.ศ. 2542 ในตำแหน่งช่างประณีตศิลป์ ชั้น 3 “ปู่จิ๋ว” ผู้มีใจรักในการแกะสลักไม้มาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยมีแรงบันดาลใจจากครอบครัวซึ่งประกอบวิชาชีพงานช่างไม้ จึงได้เรียนรู้ หมั่นฝึกฝน พัฒนาทักษะด้านช่างศิลป์หลากหลายสาขา ทั้งการเขียนลาย สร้างสรรค์ลาย ฝึกฝนเรียนรู้การแกะสลักไม้ ได้ร่วมการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีศาสดารามในการสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี และสร้างผลงานแกะสลักไม้ด้วยเทคนิคชั้นสูง ทั้งงานสร้างสรรค์ที่สร้างไว้ให้แผ่นดินมากมาย เป็นผู้มีทักษะโดดเด่นในด้านการสร้างและซ่อมแซมงานโบราณชิ้นสำคัญได้อย่างงดงาม ด้วยความรู้ความชำนาญในการศึกษาลวดลายไทยดั้งเดิม และลายอื่นๆ ซึ่งเป็นลวดลายที่นิยมใช้บนเครื่องราชูปโภค หรือเครื่องประกอบราชพิธี ที่ต้องใช้ทักษะฝีมือแกะสลักชั้นสูงที่มีความละเอียด ประณีต รวมถึงต้องใช้ความรู้ความชำนาญ ตั้งแต่การดูทางของเนื้อไม้ การพัฒนาเครื่องมือ เลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับลวดลาย เข้าใจมิติของลาย เพื่อให้เกิดความพลิ้วไหว อ่อนช้อย โดยเฉพาะการเก็บรายละเอียดของลวดลายที่สามารถสะท้อนถึงความวิจิตรบรรจงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน และความงามทางศิลปะได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้มีความชำนาญในการสร้างสรรค์ขึ้นหุ่นไม้แบบโบราณ โดยเฉพาะการขึ้นหุ่นโต๊ะหมู่บูชาชนิดต่างๆ ผลงานการแกะสลักไม้ของปู่จิ๋ว เป็นงานช่างที่รังสรรค์ผลงานแกะสลักได้หลากหลายประเภท ทั้งงานช่างไม้ชั้นสูง เช่น องค์ประกอบสถาปัตยกรรม เครื่องยอดมหาปราสาท วัดวาอาราม งานแกะสลักไม้ประเภทเครื่องยานพาหนะ งานแกะสลักไม้ประเภทเครื่องอุปโภค งานแกะสลักประเภทภาพและลาย รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือช่างแกะสลักที่เหมาะสมกับลักษณะชิ้นงานที่จะแกะสลัก ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต คือการได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์ในการสร้างสรรค์ผลงานแกะสลักไม้และงานศิลปกรรมเครื่องประกอบพระราชพิธีในพระราชพิธีพระราชทานต่างๆ ปัจจุบันยังคงทุ่มเทให้กับการช่วยปฏิบัติงานและถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ช่างแกะสลักรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยมุ่งหมายสร้างสรรค์และสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมไทยให้ยั่งยืน “ปู่จิ๋ว” นายสำเริง แดงแนวน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-แกะสลักไม้) พุทธศักราช 2563 ช่างแกะสลักไม้ประณีตศิลป์ชั้นสูงของแผ่นดิน