ช่วงที่ลูกต้องเรียนออนไลน์คุณพ่อแม่ก็วุ่นวายไปอีกแบบ แต่พอลูกน้อยไปโรงเรียนในสภาวะแบบนี้ความวุ่นวายก็กลับกลายเป็นความกังวล เพราะถึงเราจะผ่านการระบาดของโควิดกันมาหนึ่งรอบแล้ว เด็กก็ยังเป็นเด็ก บางทีลูกๆของเราก็ยังไม่เข้าใจ 100% ว่าต้องดูแลตัวเองอย่างไรถึงจะปลอดภัย กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อในเด็ก จาก โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน มีคำแนะนำที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่นำไปปรับใช้ ไม่ใช่แค่กับภาวะที่โควิดระบาดเท่านั้น แต่ยังประยุกต์ได้กับอีกหลายโรคที่เกิดในโรงเรียน เช่น มือ เท้า ปาก และไวรัส RSV อีกด้วย
1.การล้างมือคือคำตอบ
โควิดติดต่อแบบไวรัสหวัดทั่วไป คือติดผ่านสารคัดหลั่ง เช่น ไอจามแล้วมาเข้าเยื่อบุของเรา แต่อีกแบบที่พบมากคือมีการไอจามแล้วเอามือที่ป้องปากไปจับลูกบิด ซึ่งเด็กเขาก็จะระวังไม่เท่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว อาจจะไปจับต่อแล้วเอามาขยี้ตา ดังนั้นการสอนการล้างมือที่ถูกต้องจะช่วยได้เยอะ ส่วนเรื่องการเว้นระยะห่างก็ช่วยได้มาก ให้เขาเล่นกันในระยะห่าง 1 ช่วงแขนก็พอ แต่ก็ต้องยอมรับกันว่าวัยนี้ระวังได้ยากจริงๆ สุดท้ายสิ่งที่ช่วยได้ดีที่สุดก็คือการล้างมืออยู่ดี
2.ความเข้าใจและภูมิคุ้มกัน เริ่มได้ตั้งแต่ในบ้าน
ลูกไปโรงเรียนทุกวันก็จริง แต่คนที่ใกล้ชิดกับเขามากที่สุดยังไงก็หนีไม่พ้นผู้ปกครอง บ้านจึงเป็นสถานที่ตั้งต้นของทุกอย่าง ทั้งความรู้เรื่องโรค (แบบเข้าใจง่าย) และภูมิคุ้มกันของร่างกายที่แข็งแรง
การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีต้องมาจากอาหาร การพักผ่อนและการออกกำลังกาย แค่ดูแลลูกให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ได้ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว วิตามินเสริมต่างๆ ทางการแพทย์ถือว่าไม่จำเป็น ปัญหาของเด็กวัย 1 ขวบขึ้นไปจริงๆ แล้วเป็นการเลือกกิน ซึ่งทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ มีทริคนิดนึงคือเราสามารถให้ลูกมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหาร เช่น ช่วยล้างผัก พอทำอาหารเสร็จ ก็มีแนวโน้มที่เขาจะกินมากขึ้นเพราะเป็นฝีมือตัวเอง ส่วนนมอาจจะให้ลูกดื่มวันละ 2-3 กล่อง(250 ซีซี) ก็พอแล้ว การออกกำลังกายกับลูกๆ ในสถานที่เปิดนี่ยังแนะนำให้ทำอยู่ เพราะว่าดีกับสุขภาพเขาทั้งกายทั้งใจ
ส่วนการปลูกฝังความเข้าใจเรื่องโรค คุณหมอแนะนำว่าไม่ต้องเน้นวิชาการมาก แต่เล่าง่ายๆ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกก็พอ
ความรู้เรื่องโควิดนี่แนะนำให้ใช้สื่อการสอนที่เป็นภาพเพราะเด็กเรียนรู้จากการเล่นอยู่แล้ว อาจจะเล่านิทานเพื่อให้เข้าใจง่าย ไม่ต้องเล่าว่าโควิดคืออะไร แต่ทำให้เขาเข้าใจใน Concept ว่าเชื้อโรคเนี่ยเป็นผู้ร้าย เราไปเจอเขาแล้วไม่ระวังเนี่ยเราจะป่วย จะเล่นกับเพื่อนไม่ได้ ดังนั้นการล้างมือเป็นพระเอกที่ช่วยเราได้ อย่าไปพยายามป้อนข้อมูลที่หนักให้เขามาก เขาจะไม่รับนอกจากนั้นคือต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเด็กในวัยนี้เขาทำตามผู้ใหญ่อยู่แล้ว ต้องอาศัยการสอนแบบทำให้ดูด้วย เช่น การล้างมือ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำตัวอย่างก่อน ทุกคนเข้าบ้านมาแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดอย่างน้อย 60 วินาทีนะ จะใช้วิธีร้องเพลงช้าง 2 รอบก็ได้เหมือนกัน ระวังจุดเล็กๆ 3 จุด ได้แก่ ง่ามนิ้ว เล็บมือ และข้อมือ นอกจากนี้เด็กสามารถใช้แอลกฮอล์ล้างมือได้บ่อยๆ ไม่เป็นอันตรายหรือระคายเคืองต่อผิวหนัง
3.ติดอาวุธพร้อมใช้ แต่พกไปเท่าที่จำเป็น
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนคงเตรียมอุปกรณ์ป้องกันดีไซน์เจ๋งๆ แปลกๆ ให้ลูกอยู่แล้ว แต่กุมารแพทย์ยืนยันว่า แค่หน้ากากกับเจลล์แอลกฮอล์ก็เอาอยู่ ไม่ต้องเยอะและยากมาก เพราะอะไรที่ยากเรายิ่งไม่อยากใช้จริงไหม ในส่วของหน้ากากนี่แต่ละช่วงอายุจะไม่เหมือนกัน WHO แนะนำว่าถ้าอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ควรให้อยู่แต่บ้านและไม่ต้องใส่หน้ากาก เพราะถ้าใส่ไม่ถูกต้องจะเสี่ยงกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่าการใส่หน้ากากในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบเพิ่มโอกาสในการขาดออกซิเจนเหมือนกัน ดังนั้นถ้าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบใส่หน้ากากต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่อย่างใกล้ชิด แต่ถ้าอายุ 6-11 ปีต้องออกจากบ้านนี่ใส่ได้ วิธีที่ถูกต้องคือต้องล้างมือให้สะอาดก่อนแล้วค่อยใส่หน้ากาก ส่วนน้องๆ ที่อายุ 12 ปีขึ้นไปก็ใส่แบบผู้ใหญ่ได้เลย คือต้องปิดปาก ปิดจมูก ใส่ให้ถูกด้านแค่นั้น
4.นอกจากร่างกาย สุขภาพทางใจก็สำคัญ
การพูดคุยกับลูกทุกวันช่วยสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและดีต่อพัฒนาการ ยิ่งช่วงที่มีโรคระบาดแบบนี้ การคุยกันบ่อยๆก็ทำให้เราเข้าใจลูกได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งกุมารแพทย์เองได้ให้คำแนะนำในการคุยกับลูกแบบที่ลูกจะเปิดใจได้ง่ายขึ้นดังนั้น
นอกจากสอนเรื่องโรคแล้วต้องชวนเขาคุยเป็นประจำ ให้เขาตัดสินใจเรื่องเล็กๆ เกี่ยวกับตัวเขาเองได้ คือเราต้องเข้าใจเลยว่าเด็กเขามีความคิดเป็นของตัวเอง พ่อแม่ต้องใช้การสะท้อนความรู้สึก คือ ไม่ว่าจะเรื่องอะไร ให้เปิดใจ รับฟังเขาก่อน อย่าเพิ่งตัดสินเขา ทำให้เขาไว้ใจเราตั้งแต่เล็กๆ เขาจะรู้สึกว่าเราเป็นที่พึ่งให้เขาได้ เขาก็จะกล้ามาเล่าอะไรให้เราฟังมากขึ้น
5.ลูกจะปลอดภัยได้ พ่อแม่ต้องปลอดภัยก่อน
ก่อนจะจบการสัมภาษณ์ครั้งนี้ กุมารแพทย์จากโรงพยาบาลวิมุตได้ชูประเด็นสำคัญที่บางครอบครัวอาจจะหลงลืมไปว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลตัวเองให้รัดกุมพอๆ กับที่ดูแลลูก เพราะถ้าเราป่วยลูกจะป่วยตามได้
อยากจะฝากคุณพ่อคุณแม่ว่า เราต้องดูแลตัวเองดีๆ ในกรณีที่ลูกอยู่บ้านแต่เราไปทำงาน อาจจะมีคนจามใส่หลังคุณพ่อบนลิฟต์ เชื้ออาจติดมากับเสื้อได้ แนะนำให้เข้าบ้านแล้วล้างมือ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนจะเข้าใกล้ลูกดีกว่า เพราะจริงแล้วๆ จากข้อมูลที่เรามีกลุ่มผู้ป่วยเด็กนี่อาการไม่รุนแรง ถ้าไม่ใช่วัยที่เล็กจริงๆ แถมเขาไม่ค่อยแพร่เชื้อต่อเท่าผู้ใหญ่ด้วย คุณพ่อแม่นี่แหละที่ต้องดูแลตัวเองให้ดีเพื่อไม่ให้เอาโรคมาติดลูก