วันที่ 26 ก.พ. 64 หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เสร็จสิ้นการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อกลางดึกคืนวันพฤหัสบดีที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมาและต่อจากนี้ต้องพักไว้ 15 วัน เพื่อรอประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม ที่จะเกิดขึ้นช่วงวันที่ 16หรือ 17 มี.ค.นี้ที่จะเป็นการประชุมสมัยวิสามัญฯ หลังปิดสภาฯ 1 มี.ค. ท่ามกลางการถูกจับตามองว่า การแก้ไขรธน.ดังกล่าวสุดท้าย อาจเสี่ยงล้มกระดาน โดนเซ็ตซีโร่หมด หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องการแก้ 256 ดังกล่าวที่สมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะส.ส.พลังประชารัฐและสมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อกันเสนอญัตติเป็นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ไว้วินิจฉัยแล้ว โดยนายอุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(กรธ. )ที่เป็นหนึ่งในสี่บุคคลตามรายชื่อที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ทำหนังสือความเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งไปสอบถามโดยให้ส่งกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญภายในไม่เกิน 3 มี.ค.นี้ ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับหนังสือจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ยังไม่ได้ตอบกลับไป แต่คงส่งกลับทันก่อน 3 มี.ค.นี้แน่นอน นายอุดม กล่าวยืนยันว่า ความเห็นในเรื่องมาตรา 256 ก่อนหน้านี้ได้เคยไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรธน.ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 25 ก.พ. ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อมาแทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำไม่ได้ เพราะหากใช้วิธีการดังกล่าว ก็เท่ากับเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทิ้งไป "เจตนาของการเขียนมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือเป็นเรื่องของการเขียนออกมาเพื่อให้เป็นเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา  ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา กับการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันเป็นคนละเรื่องกัน เพราะอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นคนละส่วนกัน เพราะสมาชิกรัฐสภาตอนนี้เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แล้วเขามาคว่ำรัฐธรรมนูญเสียเอง เขาทำมันได้ยังไง มันไม่มีประเทศไหนทำ นอกจากฉีกรัฐธรรมนูญ"อดีตกรรมการร่างรธน.ระบุ นายอุดมกล่าวต่อไปว่า หากจะทำแบบนั้นคือต้องการฉีกรัฐธรรมนูญก็ต้องเอารัฐธรรมนูญส่งกลับคืนไปให้ประชาชนได้ไปพิจารณากันใหม่ เพราะประชาชนคือผู้ลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ผ่านการทำประชามติมา อันเป็นตระกะธรรมดา เพราะไม่มีใครเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อบอกว่าคุณมายกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนี้ได้ ไม่มีประเทศไหนทำกัน ยกเว้นแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ไม่มีที่ไหนในโลกเขาเขียนกันหรอกว่า เมื่อใดไม่ต้องการ ก็ให้ไปทำใหม่ ซึ่งทางที่เห็นว่าเป็นไปได้มากสุดหากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็คือ ส่งไปให้ประชาชนเขาลงความเห็นความเห็นกันก่อนจะแก้ไข อันเป็นหลักการที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้แล้วตอนปี 2555 ที่ตอนนั้นก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อจะตั้งสสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ศาลก็บอกว่าหากจะทำต้องไปทำประชามติก่อน เพราะทั้งรัฐธรรมนูญปี 2550 กับฉบับปัจจุบัน ปี 2560 มาจากหลักการเดียวกันคือผ่านการทำประชามติ เพราะการแก้ไขรายมาตรา เพื่อจะให้ไปทำรัฐธรรมนูญใหม่ มันก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญ นายอุดม กล่าวอีกว่า ที่บางฝ่ายแย้งว่า กระบวนการเวลานี้ ที่แก้รายมาตราเพื่อไปตั้งสสร. เคยมีการทำมาแล้วตอนมีการแก้ไขรธน.ปี พ.ศ.2534 ที่มีการแก้ไขตอนปี 2539 ที่มีการตั้งสสร. โดยฝ่ายสนับสนุนการแก้ไขรธน.บอกว่า ทำไมตอนปี 2539ทำได้ แต่อย่างที่เห็นกันคือเวลานั้น ปี 2539 ไม่มีคนค้าน แต่ตอนนี้มีทั้งคนค้าน และคนเห็นด้วยกับการแก้ไขรธน. จนเป็นกรณีมีความเห็นแตกต่างกัน ซึ่งการที่ออกมาแสดงความเห็นแบบนี้ไม่ได้ค้านเพื่อจะให้ยืนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้อย่างเดียว แต่ค้านเพื่อบอกว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าจะทำต้องไปถามประชาชน บางฝ่ายก็พยายามตะแบงว่า ที่กำลังทำอยู่ ไม่ได้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะมีการบอกว่า จะไม่แตะหมวดหนึ่งและหมวดสองในรัฐธรรมนูญ  แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้ต่างกัน เพราะการให้สสร.ไปร่างรธน.ใหม่ มันก็คือการปรับใหม่หมด เพราะมันเชื่อมโยงกันไปหมด คนที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาพยายามจะไม่พูดถึงความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยอ้างว่า คนร่างไม่ได้มาจากประชาชน ซึ่งก็พูดกันไปเรื่อย แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการส่งเอกสารหนังสือสอบถามประเด็นข้อกฎหมายไปยัง บุคคลสี่ชื่อ เพื่อให้ส่งหนังสือส่งกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 มีนาคมแล้ว เพื่อนำความเห็นมาประกอบการวินิจฉัยลงมติตัดสินคดีแก้มาตรา 256 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนแล้ว โดยทั้งสี่คนที่ศาลรัฐธรรมนูญขอความเห็นไป นอกจากนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรธ.แล้ว ก็ยังมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขานุการกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีรายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญว่า หนังสือที่ศาลรัฐธรรมนูญสอบถามไปดังกล่าว มีเพียงไม่กี่คำถามเท่านั้น โดยประเด็นหลักก็คือสอบถามความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สามารถแก้ไขเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐสภามีอำนาจทำได้หรือไม่  "คาดว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งเก้าคน ก็คงมีความเห็นในข้อกฎหมายตามมาตรา 256 ไว้แล้ว ว่ารัฐสภามีอำนาจดังกล่าวหรือไม่ ที่เป็นประเด็นตามญัตติที่สมาชิกรัฐสภามีมติส่งคำร้องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพียงแต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งเก้าคน คงต้องการนำความเห็นของทั้งสี่คนที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและในอดีตมาพิจารณาประกอบการตัดสินคดีและการลงมติของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ที่ฝ่ายค้านบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการลงมติตัดสินคดีแก้ 256 ในสัปดาห์หน้าคือวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคมนั้น หลังได้รับหนังสือจากทั้ง 4 คนวันที่ 3 มี.ค.นั้น ในความเป็นจริงดูแล้ว คงไม่น่าจะใช่ เพราะหากจะรับหนังสือจากทั้งสี่คนวันที่ 3 มี.ค.แล้วตัดสินเลยวันรุ่งขึ้น ใช้เวลาเดียวทำคำวินิจฉัยคงไม่ทัน แต่น่าจะประชุมวันที่ 4 มี.ค. เพื่อดูเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วคุยกันว่าจะนัดลงมติตัดสินคดีนี้ในวันไหนมากกว่า ที่ก็คาดว่าคงน่าจะตัดสินคดีได้ก่อนการลงมติของรัฐสภาในวาระสาม กลางเดือนมีนาคม "แหล่งข่าวระบุ