บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) ทำดีได้ดีมีที่ไหนทำชั่วได้ดีมีถมไป ถือเป็นจุดบอดในความหมายเชิงลึกของคำว่า “จริยธรรม” ที่เกี่ยวพ่วงกับคำว่า “คุณธรรม ศีลธรรม” รวมการประพฤติปฏิบัติที่ถูกที่ควรตามทำนองคลองธรรม อันเป็นบรรทัดฐาน (Norm) ที่ดีทั้งปวงของสังคม กล่าวคือ เชื่อว่า ศีลธรรม จริยธรรมอันดีย่อมนำไปสู่กฎหมายที่ดีได้ แม้นักปรัชญาจะเห็นว่า “คุณธรรม ความดี นั้นมีส่วนสมดุลอย่างเคร่งครัดกับการลด ละ เลิก ในอัตตา ซึ่งมักทวีสูงขึ้นตามลำดับ” ก็ตาม แม้จะมี “จริยวิบัติ” หรือ “คุณธรรมวิบัติ” (moral hazard) บ้างก็ตาม แต่มันเป็นรากฐานของ “ระบบนิติรัฐนิติธรรม” (The Rule of Law) และท้ายที่สุดสู่สำนึกความรับผิดชอบ (accountability) ต่อสังคมส่วนรวมอันเป็นสาธารณะ ที่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ใน “ความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม” (Integrity) อันเป็นหัวใจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการประพฤติมิชอบทั้งปวง ถือเป็นหลักกติกาสำคัญในการปฏิบัติตามกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายทั่วๆ ไปได้ (Law Compliance & Law Enforcement) โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมในศาล รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วย ที่ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลแต่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเพื่อการควบคุมบ้านเมืองตามหลัก “ตุลาการภิวัตน์” การเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อชาติ พฤติกรรมการใช้อิทธิพลกำลังข่มขู่ขัดขวางฯ ผู้สมัครท้องถิ่นฯ จากฝ่ายตรงข้ามให้หวาดกลัว ให้สยบ ยอมรับ ไม่กล้าสู้ ไม่กล้าแข่ง ฯ เพื่อล็อกให้เฉพาะพรรคพวกของตนเองเท่านั้นที่จะได้รับการเลือกตั้ง เกิดขึ้นตามข่าวในท้องที่จังหวัดหนึ่ง มีแบบนี้จริงเกิดมานานแล้ว ทำให้ผู้สมัครฯ ไม่กล้าหาเสียง ไม่กล้าลงสมัคร หรือ ถอนตัว (แม้ตามกฎหมายเมื่อสมัครแล้วถอนการสมัครไม่ได้) สารพัดวิชามารฯ ก็ยังคงมีอยู่ แนวทางการของฝ่ายบ้านใหญ่ หรือฝ่ายมีอำนาจที่มักคิดว่าตนเองเป็นฝ่าย “ธรรมะ” ในการขจัดวงจรของพวกตัวป่วน หรือตัวกวนที่ชอบ “สร้างเรื่องต่อก่อเรื่องใหม่ ภายในรอบวาระสี่ปีของฝ่ายบริหาร” จากอีกฝ่ายที่ไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่ได้เข้าไปในสภาสร้างสีสันในฐานะฝ่ายค้าน ที่คิดว่าตนเองเป็นฝ่ายตรวจสอบฯ แต่พฤติกรรมไม่เป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไปนัก ที่ทำให้องค์กรสภาขาดความน่าเชื่อถือลง ในเชิงบวกถือเป็นฝ่ายค้าน แต่ด้วยการทำงานเป็นเชิงลบเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายบริหารที่ไม่สร้างสรรค์นัก เช่น อาจค้านไปทุกเรื่อง อาจเป็นที่มาของการกีดกันการสมัครตั้งแต่ต้นทางก็ได้ ปัญหาการสร้างภาพโครงการอีเวนต์ “สมานฉันท์ปรองดองเพื่อชาติฯ” มองว่าเป็นความฉาบฉวยเอาหน้าไม่แก้ปัญหาต้นเหตุ เพราะสำนึกไม่ดีได้ไปฝังติดในหัวคน “นักเลือกตั้ง” เหล่านี้มานานยากเอาออก กระแสคนรุ่นใหม่ หัวใหม่ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณธรรม จริยธรรม ต่อสังคมได้อย่างไร เพียงใด เป็นที่น่าคิด ด้วยปรากฏการณ์โลก social network ที่ขวางกั้นไม่ได้ ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ ที่เปิดสงครามทางความคิดในโลกโซเชียลได้อย่างง่าย เช่น club house นักทฤษฎีทางการเมืองเชื่อว่า การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ผลพวงตามมาเมื่อการเลือกตั้ง (การแข่งขัน) เสร็จสิ้น มักเกิดปัญหาความขัดแย้ง หรือความรุนแรงต่างเกิดขึ้น เพราะตามหลักการนักเลือกตั้งทุกคนต้องมุ่งไปสู่ผลประโยชน์ของชุมชน สังคม และประเทศชาติ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้รักสามัคคี เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งเสร็จแล้วก็จะได้ทำหน้าที่ของผู้แทนที่ดีต่อไป กระบวนการสร้างความปรองดองหรือความสมานฉันท์จึงจำเป็น เพื่อการเยียวยาแก้ไขปัญหา โดยเปลี่ยนแปลงชุมชนหรือสังคมที่แบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่ายไปสู่ชุมชนสามัคคีที่ยึดโยงผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคต ที่ควรเป็นเรื่องของ “มาตรการกำกับดูแลจริยธรรมนักการเมือง” นั่นเอง มาตรการทางกฎหมายกรอบคุมจริยธรรม ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองฯ เริ่มจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.จัดตั้ง อปท. ทั้งหมด รวมทั้ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) พ.ศ. 2562 เหล่านี้ ถือเป็นบทกฎหมายที่ต้องแยกแยะและปฏิบัติ แต่ปัญหาที่เกิดคือการขาดการมอนิเตอร์ติดตามผล ขาดการรายงานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งจากหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบกำกับ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และ หน่วยงานผู้ปฏิบัติ เช่น ขาดการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ เพราะการใช้ปากทำงาน ใช้เอกสารทำงาน ใช้มือทำงาน ใช้ความอดทน ใช้เวลา ใช้การประสานงานความร่วมมือ ใช้เงินงบประมาณ ที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ขาดการทำด้วยใจที่แตกต่างกัน การสร้างองค์การที่มีศักดิ์ศรีและจริยธรรม มีเครื่องมือหรือเทคนิควิธีการที่มีประสิทธิผล ซึ่งสามารถที่จะไปประยุกต์ใช้ในการสร้างศักดิ์ศรีและจริยธรรมให้เกิดขึ้นในระดับตัวบุคคลก่อนที่จะก้าวขึ้นไปสู่ในระดับของการเป็นองค์การที่มีศักดิ์ศรี ได้แก่ (1) ผู้นำต้นแบบที่ดี (Leadership) (2) การฝึกอบรมจริยธรรม (Ethical Training) (3) ประมวลจริยธรรมและการปฏิญาณ (Codes & Oaths) (4) การตรวจสอบจริยธรรม (Ethics Audits) (5) การบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resources) ปัจจุบันมี “ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน” ตามรัฐธรรมนูญ 10 ข้อใหญ่ 42 ข้อย่อย ก่อนหน้านี้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 279 มีประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2552 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดแนวทางให้ ข้าราชการประพฤติปฏิบัติรวม 10 ประการ ปัจจุบันมี “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561” ประกอบด้วย หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ 6 ข้อ หมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก 10 ข้อ หมวด 3 จริยธรรมทั่วไป 6 ข้อ หมวด 4 การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 27 การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่ามีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ นั้น ตามมาตรา 219 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า “ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง ในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้รับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้บังคับแล้วให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย แต่ไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่จะกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ประเด็นปัญหา “คุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง” ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติในหลากหลายแนวทางซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยต่างคาดหวังต่อนักการเมืองไทยปัจจุบันไว้มากกว่า บ้านเมืองมิได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของชาวไทยทุกคนที่ต้องจรรโลง สังคมไทยพุทธมีหลักธรรมมากมายที่ควรยึดถือปฏิบัติ ขอฝากส่งท้าย กัลยาณมิตรธรรม ซึ่งมี 3 หมวด ได้แก่ สังคหวัตถุ 4 ฆราวาสธรรม 4 และ สัปปุริสธรรม 7 ให้ลองไปถือปฏิบัติ