ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ระบบราชการไทยคือ “ไร่ผักชี” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ผมชอบสังสรรค์กับสมเกียรติ เพราะดูเขาจะมีความสุขในการเอ็นเทอร์เทน คือชอบที่จะสร้างความสนุกสนานให้กับผู้คน และเอาใจใส่คอยดูแลว่าใครชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร รวมถึงเรื่องที่เขาพูดคุย เขาก็รู้ว่าคนที่มาคุยด้วยนั้นชอบที่จะคุยหรือฟังในเรื่องอะไร
สมเกียรติคงจะรู้ว่า ผมสนใจในเรื่อง “ลับลมคมใน” ในกระทรวงพาณิชย์ ในเวลาสนทนากันถ้าอยู่กันสองต่อสอง สมเกียรติก็จะเล่าปัญหาต่าง ๆ ในกระทรวงให้ฟัง โดยจะเริ่มตั้งคำถามให้ฟังอย่างขำ ๆ เช่น ครั้งหนึ่งสมเกียรติพูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า “รู้ไหม ผักชีปลูกกันมากที่ไหน” ผมก็ตอบตามข้อมูลที่เคยอ่านในรายงานของกรมการค้าภายในว่า ที่ตลิ่งชันนี่ไง สมเกียรติบอกว่าไม่ใช่ ที่กระทรวงพาณิชย์นี่ต่างหาก ผมหัวเราะแทบกลิ้ง แล้วสมเกียรติก็อธิบายว่า เขาเข้ามาคลุกคลีกับข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2523 ตอนนั้นพรรคกิจสังคมได้คุมกระทรวงพาณิชย์ และมี “ซาร์เศรษฐกิจ” คือนายบุญชู โรจนเสถียร เป็นรองนายกรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นก็คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์) ปัญหาอย่างหนึ่งของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็คือ สินค้ามีราคาแพง ทีมเศรษฐกิจของนายบุญชูได้เสนอให้เอกชนเข้ามาช่วยผลิตสินค้าแล้วขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด จำพวกสบู ผงซักฟอก และยาสีฟัน ใช้ชื่อสินค้าว่า “สินไทย” โดยมีบริษัทผู้ค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ 3-4 รายมาเข้าร่วม ซึ่งก็มีอายุอยู่ไม่นาน เพราะพอพรรคกิจสังคมถูกปรับออกใน 2 ปีต่อมา สินค้าสินไทยนี้ก็หายไป
สมเกียรติพูดอย่างถ่อมตัวว่า เขาคงไม่มีความสามารถพอที่จะแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงนี้ได้ เพราะเรื่องสินค้าราคาแพงนี้เป็นเรื่องของ “คนโรคจิต” คือฝ่ายคนขายคนผลิตจำนวนหนึ่งก็อยากได้กำไรเยอะ ๆ ยิ่งในช่วงที่สินค้าขาดแคลนหรือมีต้นทุนการผลิตสูง (ในเวลานั้นเป็นปัญหาจากราคาน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นตลอดเวลา) ก็ดูเหมือนคนเหล่านี้จะ “วิตกจริต” เป็นกังวลว่าจะขาดทุน ก็กักตุนสินค้าบ้าง โก่งราคาขายบ้าง โดยเฉพาะในตลาดสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ส่วนผู้ซื้อก็ “ตื่นตระหนก” วุ่นวายใจว่าจะไม่มีสินค้าอุปโภคบริโภค ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งในการกักตุนและทำให้สินค้าราคาพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาอย่างตรงจุด น่าจะอยู่ที่การควบคุม “อารมณ์และความรู้สึก” ของผู้คนนั้นมากกว่า คือทำอย่างไรจะให้คนได้รับข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องชัดเจน ที่จะทำให้ผู้คนทุกฝ่ายมีความสบายใจและพยายามเข้าใจกันและกัน ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ดูจะคุ้นเคยกับระบบที่จะ “เอาใจ” นักการเมืองอยู่มากพอสมควร โดยในเรื่องสินค้าสินไทยก็สามารถสนองนโยบายได้อย่างทันใจ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหลาย ๆ ผู้ผลิตดังกล่าว แต่ที่เป็นปัญหาก็คือผู้ขาย ซึ่งก็ได้แก่บรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว และร้านขายปลีกตามชุมชน อย่างที่เรียกว่า “โชห่วย” ที่ยังมีสัญญาและสต๊อกสินค้าจากสินค้ายี่ห้อเดิม ๆ ที่บางยี่ห้อก็เป็นเจ้าตลาดอยู่ก่อนแล้ว การเข้ามาของสินค้าสินไทยจึงเข้ามาเป็นคู่แข่งของสินค้าเจ้าตลาดเหล่านั้น แน่นอนว่าในทางการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐดูเหมือนว่าสินค้าสินไทยจะพอค้าขายไปได้บ้าง แต่ลึก ๆ แล้วค่อนข้างจะขายยากลำบาก โดยเฉพาะการชะลอการผลิตไม่ให้สินค้าสินไทยทะลักเข้าไปในตลาดมากเกินไป เพราะนั่นจะทำให้สินค้าเจ้าตลาดแต่เดิมต้องสูญเสียพื้นที่การขายและโอกาสที่จะเติบโตต่อไป สุดท้ายสินค้าสินไทยก็ไปไม่รอด แต่คนที่อยู่รอดคือข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ ที่คนที่ทำงานในนโยบายนั้นเติบโตได้ดิบได้ดีในทางราชการอย่างรวดเร็ว
สมเกียรติพูดติดตลกว่า ถ้าเมียของเราเป็นเหมือนข้าราชการ “พวกนี้” ก็คงจะดีมาก ๆ เพราะช่างรู้จิตรู้ใจนักการเมืองไปหมด แถมยังเอาอกเอาใจนักการเมืองได้เป็นอย่างดี เขาอธิบายต่อไปว่า ข้าราชการพวกนี้พอเห็นนักการเมืองหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าเข้ามาบริหารกระทรวง ก็จะพยายามเข้าหา และหาโอกาสสร้างความสนิทสนมคุ้นเคย ส่วนใหญ่จะใช้ลีลาการเข้าหาคล้าย ๆ กัน คือพยายามอ้างอิงถึงผู้หลักผู้ใหญ่ที่นักการเมือง(รัฐมนตรี)คนนั้น ๆ เคารพนับถือ รวมทั้งพยายามเชื่อมโยงความเป็นญาติหรือเพื่อนร่วมรุ่นร่วมสถาบัน (เช่น ความเป็นจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ฯลฯ) จากนั้นก็เสนอ “โครงการ” ที่จะให้รัฐมนตรี “น้ำลายไหล” รวมถึงเส้นสนกลในของช่องทางในการ “ทำมาหากิน” ต่าง ๆ โดยพยายามทำให้เนียน และไม่ให้รัฐมนตรีเกิดความกระดาก แต่ถ้าเกิดรัฐมนตรีคนใหม่จะย้อนถามกลับไปว่า รัฐมนตรีคนเก่าทำอะไรไว้บ้าง หรือใครเป็นคน(ข้าราชการ)ที่เสนอโครงการที่เป็นปัญหาหรือถูกสาธารณชนโจมตี ข้าราชการเหล่านั้นก็จะทำเป็นเหมือนว่าเป็นใบ้ ไม่รู้เรื่องรู้ราว และตนเอง(ข้าราชการคนนั้น)ไม่เคยยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย
ข้าราชการจำพวกนี้เองที่เป็นทั้ง “จุดเกิด” และ “จุดดับ” ของนักการเมืองหลาย ๆ คน คือข้าราชการจะปลุกปั้นให้รัฐมนตรีคนนั้น ๆ มีผลงาน ด้วยการคิดโครงการและหาหนทางในการโปรโมตผลงานต่าง ๆ นั้นให้ด้วยก็ได้ หรืออาจจะหักหลังคอยให้ข้อมูลกับคู่แข่งหรือศัตรูของรัฐมนตรี(และสื่อมวลชน) เพื่อทำให้เสียชื่อเสียงอย่างที่เรียกว่า “ดิสเครดิต” หรือเอาผิดให้รัฐมนตรีต้องเข้าคุกก็ได้ ดังนั้นในการทำงานกับข้าราชการ จึงเป็นในลักษณะที่ “ถ้อยทีถ้อยอาศัย” นักการเมืองก็ต้องพยายามถนอมน้ำใจและเลี้ยงดูข้าราชการให้ดี ในขณะเดียวกันข้าราชการก็ต้องคอยเอาอกเอาใจนักการเมือง และ “รักษาน้ำใจ” กันให้ดี อย่าให้เกิดบาดหมางกันได้ ดังนั้น “ข่าวคาว” ที่เกิดขึ้นในกระทรวง บางทีก็ไม่ได้เป็นเพราะนักการเมืองนั้นคิดก่อการขึ้นตามลำพัง แต่อาจจะมีข้าราชการมาเป็นตัวตั้งตัวตีและร่วม “ก่อกรรมทำเข็ญ” ในเรื่องนั้น ๆ อยู่ด้วย
ในตอนปีใหม่ พ.ศ. 2532 ท่านรัฐมนตรีให้ผมกับทีมงานในฝ่ายเลขานุการช่วยตระเตรียมงานขอบคุณข้าราชการและสื่อมวลชน ผมก็ไปปรึกษาสมเกียรติว่ารัฐมนตรีคนก่อน ๆ เขาทำกันอย่างไร ก็ดูเหมือนสมเกียรติจะยินดีอย่างยิ่งที่ได้ช่วยงานนี้ สมเกียรติบอกว่าเขาดูรัฐมนตรีคนก่อน ๆ จัดงานแบบนี้ มักจะทำแบบ “เอาหน้า” คือแสดงความใจกว้างและแจกของขวัญราคาแพง ๆ แต่เมื่อมาปรึกษาเขา เขาก็อยากบอกว่า ไม่จำเป็นต้องของแพงเสมอไป เพียงแต่เป็นของที่แสดงถึงความรักและความนับถือกันอย่างจริงจัง ซึ่งสมเกียรติแนะนำให้หาของขวัญที่เป็นงานฝีมือของชาวบ้านที่เชียงใหม่ที่ท่านรัฐมนตรีเป็นผู้แทนราษฎรอยู่นั้นมาจับสลากกันก็น่าจะดี ผมก็แจ้งให้คุณเอื้องหลานสาวท่านรัฐมนตรีไปจัดหามา และจัดทำแพ็คเกจหุ้มห่อให้สวยงาม ปรากฏว่าได้รับคำยกย่องชื่นชมไปทั่ว ถึงกระนั้นในปีนั้น สื่อมวลชนก็ตั้งฉายารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่า “หน้าเนื้อใจเสือ”
นี่กระมังที่คนโบราณสอนว่า “จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง”