ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” และเพื่อร่วมอนุรักษ์พันธุกรรมพันธุ์ไม้มงคล “มเหสักข์” และ “สักสยามินทร์” ซึ่งเป็นต้นสักที่มีอายุยืนยาวและขนาดลำต้นใหญ่ที่สุดในโลก ให้คงอยู่สืบไป บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จึงร่วมกับ โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในโครงการ “พฤกษานุรักษ์ มเหสักข์ นวมินทรานุสร” ดำเนินการปลูกต้นกล้าสักที่ได้มีการเพาะเนื้อเยื่อขยายพันธุ์มาจากต้นสักมเหสักข์และสักสยามินทร์ จำนวน 5,520 ต้น คิดเป็นพื้นที่ 55 ไร่ ในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่มีความเหมาะสม ทั้งในลักษณะพื้นที่และชุมชน ซึ่งมีความมุ่งมั่นในการที่จะร่วมกันดูแลบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องในจังหวัดเชียงใหม่ คือ ตำบลกึ้ดช้าง อำเภอแม่แตง จำนวน 2,800 ต้น ตำบลหางดง อำเภอฮอด จำนวน 1,100 ต้น และตำบลท่าเดื่อ-มืดกา อำเภอดอยเต่า จำนวน 1,600 ต้น และพื้นที่ปลูกเชิงสัญลักษณ์ในบริเวณ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)สำนักงานใหญ่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 20 ต้น บุญทิวา ด่านศมสถิต บุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้น้อมนำศาสตร์พระราชา “ปลูกป่าในใจคน” มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการ “พฤกษานุรักษ์ มเหสักข์ นวมินทรานุสร” ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยปลูกจิตสำนึกประชาชนให้หันมาดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้โดยการปลูกต้นสักนี้
ไม่เพียงแต่เป็นการปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างปอดขนาดใหญ่ที่จะเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนสร้างอากาศที่บริสุทธิ์ให้กับคนในชุมชน
เพราะเมื่อต้นสักเติบโตแล้วจะมีศักยภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้อื่น โดยต้นสักจำนวนทั้งหมดของโครงการมีความสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่ต่ำกว่า 137.5 ตันต่อปี (2.5 ตัน/ไร่/ปี) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน “ในการดำเนินงาน บริษัทฯจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเตรียมแปลงปลูกสำหรับกล้าสักที่ทาง อพ.สธ. เพาะเนื้อเยื่อขยายพันธุ์ไว้ และเชิญชวนประชาชน หน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ในท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในการปลูกภายใต้งบประมาณจำนวน 2,450,000 บาท ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการติดตามผลและดูแลบำรุงรักษาต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าต้นสักจะเติบโตแข็งแรงก่อนที่จะส่งมอบให้แก่ อปท. และชุมชนร่วมกันดูแลปกป้องผืนป่าให้เติบโตและรักษาพันธุ์ไม้หายากให้อยู่คู่กับท้องถิ่นต่อไป” บุญทิวากล่าว เมือง - มิ้ง ด้านสองตัวแทนเยาวชน มิ้ง – มลแสง แสงคำ และ เมือง – เมือง วงมา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านแม่ตะมาน กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่มีโอกาสได้ปลูกต้นสัก “มเหสักข์” และ “สักสยามินทร์” เพราะเมื่อก่อนเคยได้ยินแต่ชื่อ ยิ่งพอมารู้ว่าเป็นพันธุ์ที่หายากด้วยแล้ว ทำให้รู้สึกว่าต้องช่วยกันอนุรักษ์และดูแลไม่ให้สูญหายไปจากป่า อยากฝากถึงเพื่อนๆว่า ให้ช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ไม้ต่างๆที่มีพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้พันธุ์ไม้เหล่านั้นได้อยู่คู่กับป่า และอยู่กับประเทศของพวกเราอย่างยั่งยืน - ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ [email protected] ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เพจ “สยามรัฐ สตรี-เยาวชน”