ยังคงนิ่งสนิท ปิดปากเงียบ จนน่าแปลกใจ
สำหรับ “อินเดีย” เจ้าของฉายาแดนโรตี หรือที่หลายคนก็เรียกว่า แดนภาตะ ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกับ “เมียนมา” ประเทศที่กองทัพเพิ่งมีปฏิบัติการช็อกโลก ด้วยการก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 1 ก.พ. เป็นต้นมา แต่ทว่า ถึง ณ ชั่วโมงนี้ ทางการอินเดีย ยัง “เงียบกริบ” ไม่ปริปากว่ากล่าวอะไรที่เป็นเชิงลบต่อกองทัพเมียนมา ในขณะที่นานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่ามหาอำนาจชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรืออียู และล่าสุดก็เป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือจี 7 รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศอย่าง สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ที่ต่างประสานเสียงตำหนิประณามกันดังขรม ตลอดช่วงที่ผ่านมา
ถึงขนาดหลายประเทศของเหล่ามหาอำนาจข้างต้น ได้คลอดมาตรการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชัน ต่อเหล่าผู้นำกองทัพเมียนมา “ตั๊ดมาดอว์” กันไปแล้วก็หลายนายด้วยกัน เพื่อลงดาบ กระหนาบโทษ ต่อแม่ทัพนายกองเหล่านั้น ที่ร่วมกันก่อรัฐประหาร ปล้นอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากเลือกตั้ง อันเป็นเสียงสวรรค์ของเหล่าประชาชน
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงปฏิกริยาของทางการอินเดียที่มีต่อการรัฐประหารของเมียนมา นอกจากไม่ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้ว ยังส่งสัญญาณถึงความสัมพันธ์ที่เป็นไปอย่างแน่นแฟ้นในมิติต่างๆ ด้วยซ้ำ
โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ออกมาแถลงหลังรัฐประหารในเมียนมา ปะทุขึ้นได้ 4 - 5 วันว่า อินเดียและเมียนมาเป็นเพื่อนบ้านกัน พวกเรามีวัฒนธรรมใกล้ชิดกัน และประชาชนต่อประชาชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีเหล่านั้น ได้ส่งเสริมสนับสนุนต่อการค้า เศรษฐกิจ ความมั่นคง และด้านกลาโหมระหว่างกันของทั้งสองประเทศ
แม้กระทั่ง ล่าสุด บนเวทีการเมือง การทหารระหว่างประเทศ อย่าง การประชุมระดับคณะรัฐมนตรีของกลุ่มจตุภาคี หรือ “คว็อด” อันประกอบด้วยตัวแทนชาติสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งทางการอินเดีย รับหน้าเสื่อเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทางไกลของคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติสมาชิกกลุ่มคว็อด ครั้งที่ 3 เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่า คณะรัฐมนตรีตัวแทนของอินเดีย ก็ได้แต่กล่าวเพียงว่า ให้เมียนมาเคารพกฎหมาย และเปลี่ยนผ่านตามระบอบประชาธิปไตย เท่านั้น มิได้ส่งเสียงตำหนิประณามกองทัพเมียนมาให้ต้องระคายเคืองกันแต่ประการใด
สร้างความผิดหวังให้กับกลุ่มสิทธิมนุษยชน ที่ต้องการให้อินเดีย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา ประณามกองทัพ “ตั๊ดมาดอว์” ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน และปราบปราม กวาดล้าง กลุ่มประชาชนที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย รวมถึงจับกุมคุมขังต่อเหล่าบรรดาแกนนำของฝ่ายประชาธิปไตย อย่างนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี รวมถึงประธานาธิดี อู วิน มินต์ ของเมียนมา ซึ่งจนถึง ณ วินาทีนี้โลกภายนอกยังไม่ทราบชะตากรรมของพวกเขา
เหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า เหตุปัจจัยที่ทำให้อินเดีย ที่ได้ชื่อว่า ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกของระบอบประชาธิปไตย ต้อง ปิดปากไม่ส่งเสียงกองทัพเมียนมา ก็เพราะว่า ทางการนิวเดลี ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมทิ มีความสัมพันธ์อันดีกับฟากฝ่ายต่างๆ ในเมียนมา นั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นฟากของกองทัพตั๊ดมาดอว์ ที่ในเวลานี้อยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผบ.สูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา ซึ่งยังรั้งตำแหน่ง ผู้นำของ “สภาบริหารแห่งรัฐ” หลังการรัฐประหารอีกด้วย
เช่นเดียวกับความสัมพันธ์กับฝ่ายของนางซูจี ก็ปรากฏว่า อินเดียมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมานี้ด้วยเช่นกัน
จะเรียกว่า อินเดียตีการทูตหลายหน้ากับซีกฟากต่างๆ ในเมียนมาก็ว่าได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคะคานถ่วงดุลย์อำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ เจ้าของฉายาพญามังกร ที่สยายกรงเล็บ คือ แผ่อิทธิพลด้านต่างๆ เข้าไปในเมียนมาอย่างมหาศาล
เหล่านักวิเคราะห์ยังแสดงทรรศนะว่า อินเดียจำต้องกระชับความสัมพันธ์อันแนบแน่นอย่างนี้กับเมียนมา ท่ามกลางการเผชิญหน้าระหว่างอินเดียกับจีน เป็นไปอย่างตึงเครียด จนถึงละเลงเลือดเข้าใส่กัน เพราะสูญเสียกำลังพลไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในการปะทะกันทางทหาร บริเวณพื้นที่ขัดแย้งทางพรมแดนย่านเทือกเขาหิมาลัยเมื่อไม่นานมานี้
โดยในฉากของความสัมพันธ์ ถึงขั้นที่ทางการอินเดีย ส่งมอบ “เรือดำน้ำ” ให้แก่กองทัพเรือเมียนมากันเลยทีเดียว ส่งผลให้เมียนมา มีเรือดำน้ำครอบครองในประวัติศาสตร์ของกองทัพ
นักวิเคราะห์ยังเผยด้วยว่า สัมพันธ์อันแน่นแฟ้นจากทางการอินเดีย สมประโยชน์ของผู้นำกองทัพเมียนมาอยู่มิใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่ต้องการหาชาติพี่เบิ้มมาถ่วงดุลย์จีนด้วยเหมือนกัน หลังจากที่กองทัพเมียนมาไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อจีน ซึ่งให้การสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน และอาวุธ แก่ “กองทัพปลดปล่อยอาระกันโรฮีนจา” หรือ “เออาร์เอสเอ” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “อาร์ซา” ซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำ หรือแบล็กลิสต์ ให้เป็น “กลุ่มก่อการร้ายในเมียนมา” มาสู้รบกับกองทัพเมียนมาในพื้นที่รัฐยะไข่ จนกลายเป็นอุปสรรคของ “ตั๊ดมาดอว์” ต่อการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ที่กองทัพเมียนมา มีความเกลียดชัง และไม่นับญาติว่า เป็นประชากรของประเทศ