ศุลกากรนครพนม เผยตัวเลขมูลค่าส่งออกรอบปี ไม่กระทบหนัก ช่วงโควิดยอดยังทะลุ 6 หมื่นล้านบาท มากสุดเป็นผลไม้ไทย มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้าน ส่วนนำเข้าลดลง หนักสุดกระทบการท่องเที่ยว ประชาชนเข้าออก มั่นใจภาคเศรษฐกิจค้าชายแดนยังทรงตัว เชื่อมั่นเป็นพื้นที่ชายแดนเหมาะกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร กระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 นายวัลลภ ซุ่ยรักษา นายด่านศุลกากรนครพนม เปิดเผยว่า ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิดระบาด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยว ซบเซา ในส่วนของ ด่านศุลกากรชายแดนนครพนม ถือว่าเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้า ส่งออกเป็นหลัก เนื่องจาก มีสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 3 นครพนม คำม่วน เชื่อมไปยังถนนหมายเลข อาร์ 12 และ อาร์ 8 ไปยัง จีน เวียดนาม ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกสินค้า โดยจากข้อมูลสถิติ มูลค่าการส่งออกนำเข้าสินค้าของด่านชายแดนนครพนม ในช่วงปี งบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ถือว่า มูลค่าการส่งออกแทบไม่กระทบ มีมูลค่าการส่องออกประมาณ 60,000 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจาก พื้นที่ชายแดน จ.นครพนม สินค้า ส่งออกส่วนใหญ่ เป็นผลไม้ เป็นหลักมียอดการส่งออกผลไม้สูงสุดประมาณ 80 -90 เปอร์เซ็นต์ ของการส่ง ออก คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท อันดับ 2 เป็นเครื่องดื่มชูกำลังปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท และอันดับ 3 คือ โคกระบือ ส่งออกปีละประมาณ 3,000 กว่าล้าน เพราะเป็นเส้นทางชายแดนที่สั้น เชื่อมไปยัง จีนเวียดนาม ทำให้เอื้อต่อการขนส่ง จำพวกผลไม้เป็นหลัก นายวัลลภ ซุ่ยรักษา กล่าวอีกว่า ส่วนมูลค่านำเข้าสินค้า ในปีงบประมาณ 2563 มีมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าในปี งบประมาณ 2562 ประมาณ 22,000 ล้านบาท ผลกระทบมาจากปัจจัยเรื่องการควบคุมป้องกันโรคโควิดระบาด ทำให้ มีมาตรการในการควบคุมสินค้านำเข้า ซึ่งสินค้านำเข้าสูงสุดจะเป็นอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ประมาณ 3,500 ล้านบาท อันดับ 2 จะเป็นอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าประมาณ 1,800 ล้านบาท สำหรับมูลค่าการจับเก็บรายได้ปี 2562 ประมาณ 330 กว่าล้านบาท ปี 2563 ประมาณ 290 ล้านบาท ถือว่าลดลงประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าภาพรวม ไม่กระทบมากในด้านการค้าส่งออก แต่สิ่งที่กระทบคือ ยอดของประชาชน นักท่องเที่ยว ที่เดินทางเข้า ออก เนื่องจากมีมาตรการคุมเข้ม ห้ามเดินทางเข้า ออก นอกจากการขนส่งสินค้า อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งจากการประเมิน กรณีมีการปิดด่านชั่วคราวจุดผ่อนปรนอำเภอชายแดน 4 จุด อาจจะกระทบในส่วนของการค้าเศรษฐกิจ แต่ส่งผลดีทำให้สินค้าหลักทุกประเภทจะต้องเข้าสู่พิธีการศุลกากรที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 3 นครพนม – คำม่วน ทั้งนี้จากการประเมินของศุลกากรนครพนม มองถึงทิศทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เชื่อว่า หาก จ.นครพนม ได้รับการพัฒนาเชื่อมโยง เส้นทางขนส่งคมนาคม ทั้งระหว่างจังหวัด และชายแดน รวมถึงรถไฟรางคู่เชื่อมระหว่างภูมิภาคเพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อยอดเศรษฐกิจการค้า ส่งออกนำเข้ามากขึ้น แต่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศคาดว่ายังคงเป็นรอง และจะยังคงคึกคักในพื้นที่เป็นหลัก เพราะปัจจัยพื้นฐาน ชายแดน จ.นครพนม จะเน้นการขนส่งสินค้า อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์โควิดผ่อนคลาย ด่านชายแดน เข้าสู่ภาวะปกติ จะส่งผลให้เศรษฐกิจการค้า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าในอนาคต ทางศุลกากรนครพนม เชื่อว่า พื้นที่ชายแดน จ.นครพนม เหมาะที่จะพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อการส่งออกเป็นหลัก เพราะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าการเกษตร เชื่อมไปยัง ลาวจีนเวียดนาม ที่มีมูลค่าส่งออกสูง