รายงาน : 3 หน่วยงานผนึกกำลังสร้างระบบหนังสือของประเทศ
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ร่วมกับมูลนิธิวิชาหนังสือ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทย เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติและมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคนในทุกมิติให้มีคุณภาพ หนึ่งในนั้นว่าด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมรณรงค์ให้คนไทยทุกระดับมีวัฒนธรรมรักการอ่าน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติโดยรวม
ด้าน นายชาย นครชัย อธิบดีสวธ. กล่าวว่า การจัดทำแผนพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2569) มีเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการอ่านหนังสือ สื่อการเรียนรู้ที่ดีมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมทั่วถึง อีกทั้งร่วมกันประกาศนโยบายหนังสือคือวัฒนธรรมของชาติ รณรงค์เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและส่งเสริมรากฐานของวัฒนธรรมหนังสือ ระบบหนังสือของประเทศ และกลไกการเผยแพร่หนังสือทุกรูปแบบ โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ส่วน นายมกุฏ อรฤดี เลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ สะท้อนภาพให้เห็น ประเทศไทยมีห้องสมุด สำนักพิมพ์ ที่ส่งเสริมการอ่าน แต่ยังไม่มีการจัดทำระบบหนังสือของชาติ จึงไม่อาจรู้ได้ว่าแต่ละปีมีการผลิตหนังสือออกมากี่เล่ม มีเรื่องอะไรบ้าง มีสาระสำคัญอะไรบ้าง มีประชาชนเข้าถึงและเข้าไม่ถึงหนังสือจำนวนเท่าไหร่ เมื่อไม่รู้อะไรเลยประเทศก็จะพัฒนาต่อไปไม่ได้ ดังนั้นการจัดทำระบบหนังสือนี้เป็นครั้งแรก โดยสถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ รวบรวมประมวลผลเกี่ยวกับปัญหาระบบหนังสือ ระบบความรู้ของประเทศ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนชรา ด้วยการใช้โจทย์จากความไม่รู้ดังกล่าวมาทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ชุดข้อมูลตอบโจทย์ ที่สำคัญคือมีคนในประเทศจำนวนเท่าไหร่ที่เข้าไม่ถึงหนังสือ ซึ่งจะไม่พิจารณาแค่ความรู้ผิวเผินที่เกิดจากอินเทอร์เน็ต แต่ต้องเป็นความรู้ที่แตกฉานจากการอ่านหนังสือโดยแท้จริง
ทั้งมองอีกว่า จะมีการศึกษาห่วงปัญหา 14 ห่วง อาทิ ผู้ผลิต นักเขียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าเราจะแก้ปัญหาแต่ละจุดได้อย่างไร และในที่สุดจะได้ชุดข้อมูลของการจัดระบบหนังสือให้เหมาะสมกับเป้าหมายแต่ละกลุ่ม คาดว่าจะใช้เวลาวิจัย 1 ปี จากนั้นสวธ.จะเสนอให้หนังสือคือวัฒนธรรมของชาติ รวมไปถึงวัฒนธรรมการอ่าน วัฒนธรรมการเขียน วัฒนธรรมการส่งเสริมการทำหนังสือ และในอินเทอร์เน็ต จะส่งผลให้มีผู้มาดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง
“ที่ผ่านมาเราไม่เคยศึกษาเรื่องระบบหนังสืออย่างจริงจัง เราไม่อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกดีใจและตื่นเต้นไปกับหนังสือกระดาษ คนไทยทุกวันนี้จึงเข้าไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต หรือในสมาร์ทโฟนมากขึ้น ได้รับความรู้ที่ไม่รู้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง ที่น่าห่วงคือข้อมูลของชาวบ้านที่เข้าไม่ถึงองค์ความรู้ของชาติมีมากถึงร้อยละ 80 ดังนั้นการสร้างระบบหนังสือขึ้นมานี้ เป็นการสร้างทัศนคติให้คนไทยอ่านหนังสือรูปเล่ม สร้างจุดสนใจ สร้างสิ่งจูงใจให้เห็นประโยชน์จากการอ่านหนังสือได้ จะทำให้คนที่เข้าไม่ถึงองค์ความรู้ได้เข้าถึง และนำองค์ความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง ในที่สุดก็นำความรู้ไปพัฒนาชาติได้อย่างยั่งยืน” เลขาฯ มูลนิธิวิชาหนังสือ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.จักรพันธุ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว แม้ว่าปัจจุบันบทบาทของหนังสือ สิ่งพิมพ์จะลดลงไป แต่การอ่านยังคงเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนพัฒนาการของสังคมไม่ด้อยไปกว่าในอดีต ดังนั้นจุฬาฯ ให้การสนับสนุน จะเป็นจุดเริ่มต้นการจัดทำแผนพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทยในครั้งนี้ ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม
สร้างระบบหนังสือของชาติ สู่การพัฒนาคนและคุณภาพประเทศ