วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง เปิดประชุมสภาฯ โดยมีนายสุรเชษ นิ่มกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ได้แถลงนโยบายในการบริหารงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง เพื่อให้ประชาชนชาวจังหวัดอ่างทอง ได้รับบริการสาธารณะที่ดี สามารถแก้ไขปัญหา และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. นโยบายด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของชุมชนประกอบด้วย 1.1 จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสครอบคลุมพื้นที่ทั่วจังหวัด เช่น การจัดบริการและอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ การจัดตั้งธนาคารอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยสำหรับให้ยืมใช้งานตามความจำเป็น และการซ่อมแซม ดัดแปลง ที่อยู่อาศัยของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 1.2สนับสนุนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ซึ่งอนาคตจะมีการบริการออกหน่วยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขแต่ละอำเภอ ออกตรวจสุขภาพ พัฒนาสุขภาพ ผู้สูงวัย ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส เข้าถึงทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลในเขตจังหวัดอ่างทอง 1.3 จัดตั้งกองสาธารณสุข ส่งเสริมการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ เพื่อดูแลสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การจัดตั้งศูนย์กู้ภัยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง โดยมีบริการรับ – ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล บริการรับ - ส่งผู้ป่วยจากโรงพยาบาลถึงบ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และสงเคราะห์ ผู้ยากไร้ ทั่วทั้งจังหวัดอ่างทอง “คุณเจ็บป่วย เราช่วยส่งโรงพยาบาลให้ฟรี” 1.4 การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ “โรงเรียนชาวนา องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง” เพื่อเป็นศูนย์กลางการรับเรื่องร้องทุกข์แก่ชาวนาทั่วจังหวัด เกี่ยวกับปัญหาที่ประสบช่วงฤดูกาลทำนาข้าว เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำนาและทำการเกษตร ปัญหาแมลง ศัตรูพืช ให้ความรู้แก่เกษตรกร สมาชิกโรงเรียนชาวนาในจังหวัดอ่างทอง 1.5 การจัดตั้งโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและสวนสมุนไพรท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง โดยเป็นศูนย์การเพาะพันธุ์และอนุรักษ์สมุนไพรหายาก สมุนไพรรักษาโรค สมุนไพรที่มีฤทธิ์เสริมกัน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษา หาความรู้ ตลอดจนอนุรักษ์พืชสมุนไพรในท้องถิ่นไม่ให้สูญพันธุ์ 2. นโยบายด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จัดตั้งศูนย์แห่งการเรียนรู้ เพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนแก่เยาวชนในจังหวัด โดยเน้นส่งเสริมนิสัยการรักการอ่านและการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิตของเยาวชนและประชาชน เพื่อสร้างสรรค์สังคมฐานความรู้ที่ประชาชนสามารถก้าวทันโลก เช่น การส่งเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษแก่ประชาชน นักเรียนในจังหวัด 3. นโยบายด้านการท่องเที่ยวและกีฬาประกอบด้วย 3.1 พัฒนาพื้นที่แก้มลิงหนองเจ็ดเส้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยปรับปรุงเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ให้เป็นลานวิ่งเพื่อสุขภาพ และปรับปรุงสวนสาธารณะในรูปแบบใหม่โดยความร่วมมือกับผู้จัดการสวนนงนุช พัทยา โดยจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทางธรรมชาติแห่งใหม่ของจังหวัดอ่างทอง 3.2 ส่งเสริมการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน และเยาวชนในจังหวัดอ่างทอง 3.3 ส่งเสริมการจัดการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขตจังหวัด เช่น ฟุตบอล ฟุตซอล วอลเลย์บอล เป็นต้น 3.4 การพัฒนาสนามกีฬาจังหวัดเพื่อรองรับการจัดการแข่งขัน และจัดมหกรรมกีฬาระดับสากล กระตุ้นการท่องเที่ยวและดึงรายได้เข้าจังหวัด 3.5 ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล บาสเกตบอล ในระดับจังหวัด เขต และประเทศ ให้เข้ามาจัดการแข่งขันในยิมเนเซียมภายในสนามกีฬาจังหวัดซึ่งเป็นยิมเนเซียมที่ได้มาตรฐาน เพื่อกระตุ้นให้เด็ก และเยาวชน หันมาให้ความสนใจกีฬาเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้คนมาเที่ยวในจังหวัดเพิ่มขึ้น 4. นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค สนับสนุน และผลักดันการก่อสร้างถนนควบคู่ไปกับการติดตั้งไฟฟ้า ส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ครอบคลุมทุกเส้นทางที่อยู่ในความรับผิดชอบ การก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน การก่อสร้างสะพานเชื่อมโยงการจราจรระหว่างตำบล การสนับสนุนเครื่องจักรกลในการขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืชขวางทางน้ำ ตลอดจนการดำเนินการซ่อมแซมถนนที่ชำรุดเสียหายให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ปรับปรุงถนนสายทางที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทองได้รับถ่ายโอนจากทางหลวงชนบท และจากจังหวัดอ่างทอง 5. นโยบายด้านความสัมพันธ์ และการประสานงานท้องถิ่น การพัฒนาและแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือซึ่งกันและกันทั้งในระดับจังหวัดกับรัฐบาล ระดับกลุ่มจังหวัดด้วยกันเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด โดยการ 5.1 สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดประสานงาน การดำเนินกิจกรรม และการร่วมจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น และการประสานแผนพัฒนาร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างมีทิศทาง 5.2 สนับสนุนความร่วมมือและสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักวิชาการ อาสาสมัคร สร้างสังคมจิตอาสา ร่วมเป็นแกนกลางเชื่อมโยงการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น ตามนโยบาย วาระและความจำเป็นเร่งด่วน 5.3 ยกระดับความร่วมมือและประสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำท้องถิ่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอ จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด หน่วยงานในพื้นที่ สู่ส่วนกลางและรัฐบาล เพื่อกระชับขั้นตอน เร่งรัดการจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดการปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นอย่างทันท่วงที 5.4 สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสพัฒนาศักยภาพ และการร่วมดำเนินกิจกรรมอย่างกว้างขวาง บนเวทีและในบทบาทต่างๆ เช่น การเปิดรับฟังความคิดเห็น การเสนอแนะ การร่วมปฏิบัติงาน การร่วมตรวจสอบและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของส่วนรวม เป็นต้น งานพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องมาจากการประชาคมท้องถิ่น และต้องมีในแผนพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทองทุกโครงการ นายสุรเชษ นิ่มกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ได้กล่าวช่วงท้ายว่า จะมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ และปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข และตามความต้องการของประชาชน โดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ด้วยหลักธรรมาภิบาล และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ