นายโชติช่วง ศูรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหนุ่มสาวทัวร์จำกัด ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับวัคซีนโควิด และทางรอดของการท่องเที่ยว ผ่านเฟซบุ๊ก Tony Chote โดยระบุว่า...คงปฏิเสธกันไม่ได้ว่า วัคซีน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไหน ต้องเก็บควบคุมด้วยอุณหภูมิเท่าไหร่ ประสิทธิภาพเท่าไหร่ หรือต้องฉีดกี่ครั้งก็ตาม จะเป็น solution ที่ยั่งยืนจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด ที่ลดความกังวลและสร้างความมั่นใจให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เอาจริงๆแล้ว การมาของวัคซีน มาช้า มาน้อย ก็ยังดีกว่าไม่มา เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้สร้างผลลัพธ์จริงในการป้องกันการเพร่ระบาด แต่ก็ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้คนเริ่มกล้าใช้ชีวิต และเป็นหนึ่งก้าวเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ แม้จะเป็นก้าวสั้นๆที่เล็กกว่าประเทศอื่นๆก็ตาม วัคซีนก็คงช่วยบรรเทาเรื่องของการแพร่ระบาดค่อนข้างชัวร์แหละ แต่ที่อยากจะแชร์วันนี้คือ มุมมองของการท่องเที่ยววัคซีน เป็นอย่างไร จะเข้ามาแก้ปัญหาได้แบบเร็วแรง Fast & Furious อย่างที่คิดๆกันไหม ขอแบ่งเป็น 3 ด้าน ตามนี้ *When?* เริ่มต้นที่ คำถามยอดฮิต เมื่อไหร่จะได้เดินทางข้ามประเทศกันตูมตามอีกก่อนเลย ขออ้างถึงคำแถลงของประธานาธิบดีไบเดน ของสหรัฐสัปดาห์ก่อนว่า คนสหรัฐได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรกกันแล้วประมาณ 38 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 340 ล้านคน (11%) และจะฉีดได้จนครบตามสัดส่วน 75%ของประชากรทั้งหมดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันกลุ่ม (Herd immunity) ได้นั้น จะใช้เวลาอีก 10เดือนต่อจากนี้ นั่นหมายความว่าประเทศมหาอำนาจ เจ้าของวัคซีน ประเทศเงินถุงเงินถังอย่างสหรัฐจะพร้อมภายในสิ้นปี 2021 นี้ คุณอาจโต้แย้งได้ว่าเพราะประชากรเขาเยอะ เลยใช้เวลานาน ก็จริงอยู่ เพราะถ้าเทียบกับประเทศอิสราเอลที่มีประชากร 9 ล้านกว่าคน ฉีดวัคซีนไปแล้วด้วยสัดส่วนที่มากที่สุดในโลกประมาณ 33% แล้วแต่ประเทศไทยที่มีประชากร 70 ล้านคน รับวัคซีนเมื่อวาน(24 Feb 2021) 3.17แสนโดสรวมจากสองบริษัท เป็นสัดส่วนต่อประชากรเพียงแค่ 0.45% เท่านั้น ด้วยการเริ่มต้นที่ช้า บวกกับความล่าช้าในการผลิตทั่วโลก การชะลอการผลิตเนื่องจากผลข้างเคียงที่มีนัยสำคัญในบางกลุ่ม เชื้อที่กลายพันธุ์ การที่ยังมีผู้ติดเชื้อสะสมมากขึ้นเรื่อยๆทุกวัน ประเทศไทยจะได้วัคซีนในระดับที่เกิด herd immunity คงเป็น Q1/2022 ที่คนจะเริ่มเดินทางกันได้อย่างอิสระมากขึ้นอีกครั้ง คนไทยก็คงต้องรออีกสักพักใหญ่ เพราะถ้าเราไม่ได้รับวัคซีนที่ครอบคลุม ต่างชาติก็อาจไม่กล้าเข้ามามากนัก คนไทยก็ออกไปต่างประเทศไม่ได้ เราจะกลายเป็นหลุมดำ จากที่เคยเป็นหลุมทอง ของภูมิภาคนี้ และถ้าประเทศเพื่อนบ้านที่มีแหล่งธรรมชาติ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับเรา มีความพร้อมกว่าเราในเรื่องของวัคซีน พวกเขาจะได้รับผลบวกนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้ามาจำนวนมาก *Who?* เนื่องจากรอบแรกๆการกระจายวัคซีนจะไปถึง คนfrontlineที่เผชิญกับความเสี่ยงสูง เช่น หมอ พยาบาล คนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสาธารณสุข รอบต่อๆไปก็คนที่มีความเสี่ยงสูง อายุ 60+ และประชาชนในพื้นที่เขตอันตราย แต่ๆๆๆ ในมุมของการท่องเที่ยว ตลาดหลักที่เป็น target market ไม่ใช่คนกลุ่มนี้ อ้างอิงจาก UNWTO มากกว่า 2/3 ของจำนวนคนที่เดินทางต่างประเทศทั่วโลก เป็นคนที่มีอายุน้อยกว่า 55 ปี โดยประมาณ 25% เป็นคนอายุระหว่าง 15-29 ปี ซึ่งมีการเดินทางบ่อยครั้ง ใช้จ่ายเยอะ เดินทางไปในสถานที่ที่หลากหลาย นั่นหมายความว่า ในช่วงแรกๆของการทยอยได้รับวัคซีน ยังคงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยว ดังนั้น กว่าที่คนท่องเที่ยวจะได้ท่องเที่ยวกันจริงๆ ก็ยังคงต้องรอดูถึงช่วงที่คนกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนกัน ส่งผลให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวแทบเป็นไปไม่ได้ในปีนี้ *How?* การฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว คงเป็นรูปแบบ 1) travel bubbles ระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ประเทศที่ได้รับวัคซีนกันแล้วถึงจุดที่ปลอดภัยจะเชื่อมเข้าหากันได้ คนของประเทศกลุ่มเหล่านี้ จะได้เป็นกลุ่มที่เริ่มเดินทางได้ก่อน และกระตุ้นความอยากของคนในประเทศที่ยังไม่พร้อมเดินทาง 2) Vaccine passport ต้องมา เหมือนที่เรายังต้องฉีดวัคซีนไข้เหลือง (Yellow Fever) เมื่อจะเดินทางไปประเทศบางประเทศ สำหรับโควิดที่เป็นระดับ pandemicก็คงไม่ต่างกัน คนที่จะเดินทางข้ามประเทศได้ต้องฉีดครบโดส ไม่ว่าจะหนึ่งหรือสองตามคุณภาพของแต่ละบริษัท วันก่อนมีคนถามถึงเรื่องการทำทัวร์ฉีดวัคซีน ผมว่าไอเดียดี แต่เชิงปฏิบัติคงท้าทาย เพราะ 1. คนจะเดินทางได้คงต้องมีวัคซีนพาสปอร์ตก่อนถึงเดินทางได้ เข้าประเทศได้ 2.การระยะเวลาที่วัคซีนจะมีผลที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15-30 วัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้รับวัคซีนด้วยว่าจะสร้างภูมิเร็วหรือช้า การที่คนต่างชาติจะเข้ามาเพื่อฉีดวัคซีนจากนั้นก็ท่องเที่ยวดูอาจยังต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่ 3. เราไม่ใช่ประเทศที่มีชื่อเสี่ยงที่เขาต้องมาฉีดวัคซีนกัน เราเด่นด้านแหล่งท่องเที่ยว แถมนิดนึงถึงประเภทของวัคซีน ถึง “วัคซีนทางโรคระบาด” ยังไม่พร้อม แต่ที่ควรมีและทำได้ คือ “วัคซีนทางเศรษฐกิจ” และ “วัคซีนของแหล่งท่องเที่ยว” “วัคซีนทางเศรษฐกิจ” ที่ป้องกันการล้มหายตายจากของผู้ประกอบการ เพราะเครื่องจักรเมื่อหยุดเมื่อไหร่ มันฟื้นยาก กว่าจะเตรียมคน เทรนคน เตรียมระบบงาน ทำตลาด อันนี้ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวแต่เป็นโดยรวม ถ้าล้มหายตายจากไป ไม่มีเครื่องจักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ประเทศ ถึงพ้นภัยจากโรคระบาด อาจมาจบลงที่ความล่มสลายทางเศรษฐกิจ การบริหารจัดการให้เครื่องจักร เครื่องมือทางเศรษฐกิจเดินเครื่องแบบ “ยังพอไปได้” จึงเป็นสิ่งสำคัญ บริหารจัดการ ลดการให้น้ำหนักทางสาธารณสุขลงบ้าง และเพิ่มน้ำหนักให้กับทางเศรษฐกิจ “วัคซีนของแหล่งท่องเที่ยว” ก่อนโควิดที่ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาถึง 38 ล้านคนต่อปี มีประเด็นเยอะในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่แออัด infrasมีไม่เพียงพอ การรักษาความสะอาด การจัดสรรพัฒนาพื้นที่ทำได้ยาก ตอนนี้ข้ออ้างเรื่องความแออัดหมดไป เหลือเพียง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติใสสะอาด ปราศจากขยะหรือร่มกางรกบนหาดทราย นี่คือเวลาในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ set ZERO ได้ ธุรกิจทำไม่ได้ แต่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทำได้ และควรทำ กล่าวโดยสรุป วัคซีนเป็นทางรอดของการท่องเที่ยวจากโควิด *เท่านั้น* แต่ไม่ใช่ทางออกของการท่องเที่ยวทั้งหมด ย้อนกลับไปก่อนโควิด เรามีปัญหาอะไรบ้าง บางปัญหาก็หายไปแล้ว บางปัญหาก็ยังอยู่ บางปัญหาตอนนี้ไม่มีแต่อนาคตมีแน่ สายการบินที่ผลประกอบการตกต่ำมาก่อนโควิด ทัวร์ โรงแรมและรถเช่าที่ห้ำหั่นราคา แหล่งท่องเที่ยวที่พยายามผลักดันให้มีมูลค่าสูงขึ้น หลุดจากกับดัก cheap destination ก็ไม่สามารถบริหารจัดการได้ แต่ไม่ว่าอะไรก็ตาม อยากฝาก mindset ว่า “เราตัวใหญ่กว่าที่ตัวเองคิด” เราทำได้ ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภายนอก ช่วยเหลือตัวเองจากภายใน หลายคนทำแล้ว หลายคนกำลังจะทำ ในขณะที่หลายคนยังแค่คิดจะทำ ขอขอบคุณข้อมูล และรูปภาพจากเฟซบุ๊ก Tony Chote