SCGP เตรียมออกหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2564 อายุ 3 ปี 8 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.65 ต่อปี มูลค่าเสนอขาย ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติมมูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาท ชูอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ A+(tha) จากฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) สะท้อนฐานะการเงินและสถานะธุรกิจที่แข็งแกร่ง เปิดจองซื้อสำหรับผู้ถือหุ้นกู้ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ครั้งที่ 1/2560 (SCC214A) ในวันที่ 1-5 มีนาคมนี้ และผู้ลงทุนทั่วไปสามารถจองซื้อได้ในวันที่ 29-31 มีนาคมนี้ ที่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ครั้งแรกมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติมมูลค่าไม่เกิน500 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระคืนเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่จะครบกำหนดภายในไตรมาส 3 ปี 2564 นี้ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับ การจัดอันดับความน่าเชื่อที่ระดับ A+(tha) จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจจากการเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน โดยการเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 ในวันที่ 1-5 มีนาคมนี้ จะให้สิทธิจองซื้อกับผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2560 (SCC214A)* ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 1 เมษายนนี้ ด้วยอัตราส่วนเสนอขาย 1 หุ้นกู้ SCC214A ต่อ 0.2 หุ้นกู้ SCGP (SCGP24DA) จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 1,000 บาท และช่วงที่ 2 ในวันที่ 29-31 มีนาคมนี้จะเสนอขายแก่ผู้ลงทุนทั่วไป จองซื้อขั้นต่ำ 1,000,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ SCC214A และผู้ลงทุนทั่วไปที่สนใจ สามารถจองซื้อหุ้นกู้ SCGP ได้ที่ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้ง 5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทั้งทางออนไลน์และที่สาขาของธนาคาร โดยดาวน์โหลดใบจองซื้อได้ที่ http://investor.scgpackaging.com/th ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ SCGP ในปี 2563 บริษัทสามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีรายได้จากการขาย 92,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อน กำไรสุทธิ 6,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากปีก่อน เนื่องจากการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.6 เท่า และในปี 2564 บริษัทได้วางแผนขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี และรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่จะเพิ่มขึ้นหากสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย