“8 แกนนำ กปปส.” นอนคุกคืนแรกเครียด “ผบ.คุก” ยันปฏิบัติมาตรฐานเดียวกัน ด้าน“ส.ส.ปชป.-พปชร.” แห่เยี่ยม “จุรินทร์” สั่งทีมกฎหมายช่วยคนของพรรคเต็มที่ ระบุไม่ห่วงปรับ ครม. ชี้โควตารัฐมนตรีควรตามเดิม อุบหาคนนั่ง “รมช.คมนาคม” แทน “ถาวร” ส่วน“บิ๊กป้อม” ชี้ขึ้นอยู่กับ “บิ๊กตู่” ปรับครม. โวยถูกถามโควตา “กปปส.” ลั่น มีแต่โควตา“พปชร.” ส่วน “นิพนธ์” ส่งสัญญาณเกลี่ยโควตาใหม่ต้องคุยกันก่อน ขณะที่ “วิษณุ” ย้ำ “3 รมต.” หลุดเก้าอี้ไม่มีปัญหา “รมช.” นั่งโต๊ะดูแลแทน ขณะที่“ชวน” โยนกกต.เคาะ “ส.ส.” ถูกจำคุกหลุดสมาชิกภาพหรือไม่ รับถกแก้ รธน.อืด เผย “ผบ.ตร.” ขอตัว “เอ๋-ปารีณา” คดีรุกป่าสงวนไปสอบสวนได้ทันที หากปิดสมัยประชุม เหตุไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ความคืบหน้ากรณีศาลอาญา มีคำพิพากษาจำคุกแกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.)โดยไม่รอลง อาญา 15 ราย ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกจำคุก 5 ปี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ถูกจำคุก 7 ปี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ถูกจำคุก 6 ปี 16 เดือน นายถาวร เสนเนียม ถูกจำคุก 5 ปี นายชุมพล จุลใส ถูกจำคุก 9 ปี 24 เดือน นายสุริยะใส กตะศิลา ถูกจำคุก 2 ปี เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ ถูกจำคุก 4 ปี 16 เดือน นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพระพุทธะอิสระ) ถูกจำคุก 4 ปี 8 เดือน นายอิสสระ สมชัย ถูกจำคุก 7 ปี 16 เดือน นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ถูกจำคุก 3 ปี นายสาวิทย์ แก้วหวาน ถูกจำคุก 2 ปี นายคมสัน ทองศิริ ถูกจำคุก 2 ปี นายสำราญ รอดเพชร ถูกจำคุก 2 ปี 16 เดือน นายอมร อมรรัตนานนท์ ถูกจำคุก 20 เดือน และพล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ (เสียชีวิต) รอลงอาญา 12 ราย และยกฟ้อง 12 ราย เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 6 ราย ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.พ.64 นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังรับตัว นายสุเทพ นายพุทธิพงษ์ นายถาวร นายณัฏฐพล และพวกรวม 8 คน เข้ามาควบคุมตัวที่เรือนจำว่า บางคนไม่คิดว่าจะถูกตัดสินให้รับโทษจำคุก จึงไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจ ทำให้มีความเครียดบ้าง ซึ่งเป็นปกติของผู้ต้องขังใหม่ทุกคนที่ถูกส่งตัวเข้ามายังเรือนจำ โดยในคืนแรกๆ จะนอนไม่ค่อยหลับ เพราะเรือนจำเปิดไฟส่องสว่างทั้งคืน ไม่คุ้นชินและต้องปรับตัวนอนกับพื้นแข็งๆ โดยได้รับแจกเพียงผ้า 3 ผืน ตามระเบียบของเรือนจำ และขอให้มั่นใจว่าเรือนจำปฏิบัติกับผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์ เจ็บป่วยก็มีแพทย์รักษาเหมือนกัน จัดหาอาหารให้ทุกคนเหมือนกัน แต่บางคนอาจมีอาหารที่ญาติสั่งซื้ออาหารจากร้านสวัสดิการเรือนจำให้ ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีทนายความ กลุ่มญาติของอดีตแกนนำและแนวร่วมทยอยเข้าเยี่ยมและหารือเรื่องการเตรียมยื่นประกันตัว สู้คดี อาทิ นายวิทยา แก้วภราดัย ,นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ,น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ,นางทยา ทีปสุวรรณ ,นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ,นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ผ่านระบบวิดิโอคอนฟอร์เรนท์ ด้าน นายราเมศ หนึ่งในทีมทนายความ กล่าวว่า มีทนายความ 2 กลุ่ม เข้าไปพูดคุยถึงแนวทางการยื่นประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ และเตรียมเอกสารไปยื่นแล้ว ซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับการประกันตัว ส่วนกรณีของนายถาวร ยืนยันว่ายังไม่พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งว่าจะปล่อยตัวหรือไม่ปล่อยตัวชั่วคราว ส่วน นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความ อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวว่า ขณะนี้ทุกคนยังมีกำลังใจดี เข้าใจ และยอมรับกระบวนการยุติธรรม เบื้องต้นได้มอบหมายให้ทีมทนายดำเนินการประกันตัวตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยไม่ต้องวิตกกับคนข้างใน ทุกคนสามารถอยู่ได้สบายเหมือนคนทั่วไป แม้มีโรคประจำตัวหมด แต่ก็มีการรักษาตามกระบวนการ ส่วนความคืบหน้าทางคดี ต้องรอศาลอุทธรณ์พิจารณาให้ประกันตัว หรือไม่ คาดว่าในช่วงบ่ายน่าจะมีความชัดเจน ส่วน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวขอให้กำลังใจทุกคนที่ถูกดำเนินคดี ในส่วนของพรรคได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายดูแลสมาชิกของพรรคที่ถูกดำเนินคดีอย่างเต็มที่ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดเวลานี้ คือต้องเร่งขอประกันตัวให้ทุกคนได้ออกมาต่อสู้คดี เพราะขณะนี้คดีอยู่ในศาลชั้นต้นเท่านั้น ส่วนกรณีของนายถาวร ซึ่งเป็นรัฐมนตรีนั้นทางพรรคยังไม่ได้วางแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อบังคับพรรค ส่วนจะยกโควตาให้กลุ่มส.ส.ภาคใดหรือไม่นั้น ยังไม่ขอตอบในรายละเอียด เพราะพรรคมีกระบวนการพิจารณาอยู่แล้ว “ขณะนี้นายกฯ ยังไม่ส่งสัญญาณปรับคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด และยืนยันว่า ไม่กังวลหลังมีกระแสข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคต้องการขอโควตารัฐมนตรีเพิ่มมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตามหลักการควรจะจัดสรรโควตารัฐมนตรีเท่าเดิม เหมือนตอนที่ขอร่วมรัฐบาล แต่หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้ เพราะนายกฯจะเป็นผู้พิจารณาเรื่องสัดส่วนของแต่ละพรรค และตนเองไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะตัดสินใจอะไรได้” ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีนายพุทธิพงษ์ และนายณัฏฐพล 2รัฐมนตรีของพรรค พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้หารือกับนายกฯว่าจะมีการปรับครม.หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับนายกฯจะพิจารณา เมื่อถามต่อว่า โควตาของ นายณัฏฐพลและนายพุทธิพงษ์เป็นโควตาของ กปปส. จะยังเป็นโควตาของ กปปส. อยู่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ถามกลับว่า “ของ กปปส. ที่ไหน ของพรรคพลังประชารัฐทั้ง 2 คน เขาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ก็แล้วแต่นายกฯพิจารณา” ส่วนจะต้องมีการปรับสลับเก้าอี้รัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า แล้วแต่สื่อฯจะไปสลับกันเอาเอง นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย กล่าวว่า การปรับครม. ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกัน ตนคิดว่าต้องรอให้สถานการณ์ชัดเจน และรอให้นายกฯ แจ้งในสิ่งเหล่านี้ก่อน เพราะการปรับครม.เป็นอำนาจของนายกฯ เมื่อถามย้ำว่า จะกลายเป็นปัญหาของรัฐบาลหรือไม่หากมีการปรับครม.และต้องมาเกลี่ยตำแหน่งกันใหม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า ต้องมาพูดคุยกันว่าเดิมเราคุยกันไว้อย่างไร และถ้าจะเปลี่ยนมีเหตุผลอะไรในการเปลี่ยน ตนคิดว่าเรื่องนี้ต้องมาพูดคุยกัน เมื่อถามต่อว่า หากมีการยึดเก้าอี้ในโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรใช่หรือไม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า “ผมยังไม่บอกว่าไม่มีปัญหาอะไร ต้องไปดูว่าเดิมคุยกันอย่างไร ฐานเสียงเดิมเป็นอย่างไร และถ้ามีการเปลี่ยนเกลี่ยกันใหม่ต้องดูเหตุผลรับได้หรือไม่ ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเรื่องการพ้นจากความเป็นรัฐมน ตรี เฉพาะตัวตามตรา 170 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญจะต้องโยงกับกฎหมายหลายมาตรา โดยมาตรา170(4)ระบุว่าความเป็นรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงตามเป็นการเฉพาะตัว เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160(7) ที่ระบุถึงการต้องคำพิพากษาให้จำคุก ดังนั้นเมื่อศาลพิพากษาให้จำคุก ไม่ว่าจะถึงที่สุดหรือไม่แต่รัฐธรรมนูญให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง อย่างชัดเจน ส่วนกรณีคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 101(13) โดยปกติหากศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุดให้จำคุก ก็จะยังไม่พ้น แต่จะมีเหตุอื่นเข้ามา เช่นศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ก็จะโยงไปถึงการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งมาตรา 96(2) ที่ระบุว่าหากเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่ ก็จะพ้นจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ส่วนบุคคลที่ศาลไม่ได้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง โดยหลักแล้วการจำคุกก็ยังไม่ถึงที่สุด สิทธิเลือกตั้ง ก็ไม่ถูกเพิกถอนจึงยังไม่พ้นจากความเป็นส.ส. แต่ก็มีเหตุอื่นแทรกเข้ามาอีกว่า หากถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และมีหมายของศาลให้จำคุกกรณี เช่นนั้นก็จะพ้นด้วย แต่ตนไม่ทราบว่าใครเข้าข่ายดังกล่าวบ้าง ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับกรณีตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อว่างลง จำเป็นจะต้องรีบแต่งตั้งใหม่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ยากอะไ ร เนื่องจากรมว.ศึกษาธิการมีรมช.อยู่ 2 คน ซึ่งครม.เคยมีมติไปแล้วว่าหากรัฐมนตรีว่าการไม่อยู่ ก็ให้รัฐมนตรีช่วยมารักษาการตามลำดับ ซึ่งกรณีนี้คือ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ขึ้นมารักษาการ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ด้าน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อส.ส.ไม่ได้ประกันตัว ความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ก็ต้องหมดไป ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้อยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เหมือนกรณีของนายนวัธ เตาะเจริญสุข อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ที่โดนคดีอาญาจ้างวานฆ่ นายชวน ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ว่า ตอนนี้ยืดเยื้อมาก สมาชิกอภิปรายหลักการมากกว่าการแปรญัตติ จึงจะขอร้องให้สมาชิกอภิปรายอยู่ในกรอบ นายชวน ยังกล่าวถึงกรณีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ทำหนังสือขอตัว ส.ส.ไปสอบสวน 2 คน ซึ่ง 1 ในนั้นคือ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ไปดำเนินคดีกรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนว่า ได้รับหนังสือแล้ว แต่ช่วงระหว่างนี้ใกล้ปิดสมัยประชุมแล้วจึงบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมไม่ทัน แต่หลังจากนี้ เมื่อปิดสมัยประชุมแล้ว ส.ส.ก็จะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ตำรวจสามารถเรียกไปสอบสวนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตสภาฯ