เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเซนเตอร์พอยต์ เทอร์มินอล 21 อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมหารือมาตรการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อุโมงค์บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพกับทางหลวงหมายเลข 224 ถนนราชสีมา-โชคชัย (ทางแยกนครราชสีมาหรือห้าแยกบิ๊กซีโคราช) โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตัวแทนส่วนราชการ ผู้ประกอบการค้าและประชาชนในพื้นที่ละแวกโครงการจำนวน 50 คน รับฟังการชี้แจงความเป็นมาและผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมและการจราจร ขนส่งรวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไขลดผลกระทบอาจเกิดขึ้นในระหว่างดำเนินโครงการและให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่มีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งนี้มีผู้ร่วมกิจกรรมการมีส่วนร่วมน้อยมาก โดยบริษัทที่ปรึกษาได้เตรียมเก้าอี้รองรับ 220 คน ถือเป็นการแสดงอารยะขัดขืนและช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็นเกือบ 90 % เป็นเสียงคัดค้านไม่เอาโครงการ แต่ผู้จัดอ้างสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 อาจทำให้กลุ่มเป้าหมายงดกิจกรรมทางสังคม ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นมีหลายช่องทางไม่จำเป็นต้องร่วมการประชุมก็ได้
นายจรัสชัย รอง ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า เป้าหมายสำคัญของโครงการเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดทางแยกนครราชสีมา ซึ่งมีปริมาณจราจรคับคั่งและมีชุมชนหนาแน่น ภาครัฐจึงได้ศึกษาและออกแบบเตรียมดำเนินก่อสร้างมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ 2550 หรือ 14 ปี ที่ผ่านมา แต่ประชาชนส่วนใหญ่เกรงผลกระทบต่อธุรกิจการค้า การดำเนินการต้องชะลอไว้ ปัจจุบันละแวกพื้นที่ทางแยกนครราชสีมา ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช และสถานประกอบการขนาดใหญ่หลายแห่ง ทำให้การจราจรที่มียานพานะแล่นผ่านเฉลี่ยหลายหมื่นคันต่อวัน การจัดการจราจรด้วยไฟสัญญาณจราจรไม่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางอย่างเพียงพอมีปัญหาตามมาค่อนข้างหลากหลาย จึงนำผลการศึกษาและออกแบบโครงการมาทบทวน ปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน แต่บริเวณพื้นที่โครงการมีแหล่งโบราณสถานระยะ 1 กิโลเมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางจำนวน 4 แห่ง ได้แก่บ้านสำโรงจันทร์ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ประตูชุมพลและคูเมืองกำแพงตัวเมืองเก่า จึงต้องจัดทำรายการผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดโครงการ กิจการหรือการดำเนินการ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขก่อนการพัฒนาโครงการ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและประชาชนที่อาศัยในบริเวณพื้นที่น้อยที่สุด
นายนคร ศรีธิวงศ์ ผู้จัดการโครงการ ฯ กล่าวว่า กำหนดจุดเริ่มต้นบน ถ.มิตรภาพ ที่หลักกิโลเมตร 253+371 ถึง 254+552 รวมระยะทาง 1.181 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในระยะ 500 เมตร รูปแบบเริ่มบริเวณหน้าศูนย์เพาะชำเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ลอดใต้ทางแยกนครราชสีมาและสิ้นสุดบนทางระดับดินบริเวณหน้าอู่ชินวัฒน์บริการ เป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างภายใน 9.10 เมตร ความสูงช่องลอดไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร ความลาดชันร้อยละ 4 รองรับความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อรองรับการจราจรในทิศทางที่มาจากจังหวัดขอนแก่นเลี้ยวขวาไปจังหวัดสระบุรีและถนนระดับดินมีการควบคุมทิศทางการเดินรถด้วยสัญญาณไฟจราจร อย่างไรก็ตามหากผ่านขั้นตอนต่างๆ และประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ ไทม์ไลน์เริ่มก่อสร้างในปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี งบประมาณกว่า 800 ล้านบาทและกรณีเสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการ เราได้รวบรวมข้อมูลและทุกความคิดเห็นนำเสนอให้กรมทางหลวงรับทราบต่อไป
นายศุภกิจ ตั้งสิทธิประเสริฐ ผู้ประกอบการค้าย่านถนนจันทร์ โคราช กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพเมืองเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก การบริหารจัดการจราจรสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ทำไมบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา กรมทางหลวงยุบเกาะกลางถนนเพิ่มช่องจราจรได้ ส่วนบริเวณทางแยกนครราชสีมา ไม่ยอมดำเนินการ ฝากกรมทางหลวงศึกษาหาทางแก้ไขปัญหาจราจรที่สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบธุรกิจ ซึ่งรูปแบบอุโมงค์ทางลอดไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาจราจรได้ครอบคลุมและสิ้นเปลืองงบมาก