นางสาวรสนา โตสิตระกูล เป็นนักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า... อย่าตีตั๋วช้างให้เอกชนรายใหญ่ผูกขาดไฟฟ้าที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ จะดีหรือไม่!? ข่าวจากสื่อมวลชนรายงานว่ากองทัพบก-กฟผ. เซ็นMOU สะท้านปฐพี ลุยโซลาร์ฟาร์ม30,000MW ปัจจุบันไฟฟ้าสำรองมีเกินจากที่สำรอง15% เป็นเกือบ 50% แล้ว รัฐบาลและรัฐมนตรีพลังงานยังจะปล่อยให้กองทัพบก และกฟผ.เซ็น MOU สร้างโซล่าฟาร์มอีก 30,000 MW ด้วยเหตุผลใด !? แม้ไฟฟ้าสำรองเกินอย่างมหาศาล แต่ผู้มีอำนาจอนุมัติการรับซื้อไฟฟ้าก็ยังมีการเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนต่อไปเรื่อยๆ ทั้งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยเมื่อประมาณ2ปีมาแล้วว่าการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 51% เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 และให้รัฐบาลแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายใน10ปี แต่รัฐบาลกำลังทำหูทวนลม ใช่หรือไม่ จึงไม่มีการกำกับกฟผ.ในเรื่องของการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนอย่างต่อเนื่อง ค่าไฟฟ้าที่กฟผ.รับซื้อจากเอกชนที่ใช้เชื้อเพลิงบางประเภทเช่นไฟฟ้าจากขยะ ไฟฟ้าจากความร้อนร่วมและไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หน่วยละ 3-5 บาท แต่กฟผ.ขายส่งไฟฟ้าให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หน่วยละประมาณ3บาท และกฟน.กฟภ.เอามาขายต่อให้ประชาชนในราคาหน่วยละประมาณ 4บาท กฟผ. รับซื้อ5บาท แต่ขาย3 บาท ซื้อแพงขายถูก อยู่ได้อย่างไร !?กฟผ.อยู่ได้เพราะเอาส่วนต่างที่ซื้อแพงแต่ขายถูกไปใส่ในค่าFt ให้ประชาชนแบกรับต่อไป ใช่หรือไม่ !? การอนุมัติให้เอกชนรายใดขายไฟให้กฟผ.ได้25ปี เท่ากับเอกชนรายนั้นเหมือนช้างตกยุ้งข้าวสารไป25ปี แล้วช้างที่จะมีโอกาสตกยุ้งข้าวสารแบบฟรีๆ จะมีหรือไม่!? จึงมีคำร่ำลือว่า การเซ็นอนุมัติซื้อไฟฟ้าแต่ละเมกกะวัตต์ มีค่าตอบแทนเมกกะวัตต์ละล้าน ใช่หรือไม่ ทำให้มีการอนุมัติซื้อไฟฟ้าราคาแพง โดยไม่สนใจว่าได้มีสำรองไฟฟ้าเกินไปมากน้อยแค่ไหน เพราะประชาชนเป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้าและค่าส่วนเกินเหล่านั้นนั่นเอง นี่คือวงจรการคอร์รัปชันในระบบการซื้อไฟฟ้า ใช่หรือไม่!? รัฐบาลและรัฐมนตรีพลังงานควรสั่งห้ามการทำโครงการใหญ่ มูลค่าหลายแสนล้านนี้เสียทันที สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือเปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยเรือนล้านติดตั้งโซล่าบนหลังคาได้ เหมือนที่หลายประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกันและรัฐบาลควรมีนโยบายให้มีการหักลบกลบหน่วยค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง กับไฟฟ้าของกฟน.และกฟภ.ที่เรียกว่าระบบ Net Metering เพื่อลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าของครัวเรือน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ตรงกันข้ามหากรัฐบาลตีตั๋วช้างให้นายทุนใหญ่เพียงไม่กี่รายผูกขาดพลังงาน ก็เท่ากับรัฐบาลได้สถาปนาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมอย่างใหญ่หลวงโดยนโยบายของรัฐเสียเอง ใช่หรือไม่?!และเป็นการคอร์รัปชันทางนโยบายของรัฐเสียเอง ใช่หรือไม่?! แทนที่จะปล่อยให้กองทัพบกแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการอภิเมกกะโปรเจค บนกระดูกสันหลังของประชาชน รัฐบาลควรใช้นโยบายสนับสนุนประชาชน 10ล้านครัวเรือนติดตั้งโซล่าบนหลังคา ครัวเรือนละ 3 กิโลวัตต์ก็จะเท่ากับ 30,000 MW ที่กองทัพบกต้องการทำเพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ หากทำนโยบายเช่นนี้ รัฐบาลจะได้รับเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญว่าเป็นโครงการเมกกะโปรเจคของรัฐบาล ที่ทำโดยประชาชนและเพื่อประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง รสนา โตสิตระกูล 24 ก.พ 2564