เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอต่อจากครั้งที่แล้ว ทั้งนี้สมาชิกรัฐสภา ส่วนใหญ่ได้แสดงความเห็น เกี่ยวกับการใช้อิทธิพลทางการเมืองในการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ใช้อำนาจหน้าที่และอำนาจรีดไถประชาชน จนถูกตั้งฉายาให้เป็นโจรในเครื่องแบบ รวมถึงกรณีการได้สิทธิพิเศษต่อการได้รับยศ หรือตำแหน่งที่สูงขึ้น พร้อมทั้งเสนอแนะให้กรรมาธิการที่แต่งตั้งพิจารณาปัญหาเพื่อปรับปรุงบทบัญญัติให้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาส่วยตำรวจที่ทำให้เกิดปัญหามากที่สุด ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ตามที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... ที่รัฐสภา เป็นฉบับของตำรวจ นั้นไม่ใช่ เพราะเป็นร่างฉบับเดียวกัน ที่ถูกเสนอโดยคณะกรรมการของพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณา จากนั้น คณะรัฐมนตรีส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ุ กรรมการกฤษฎีกา เป็นประธานทำงาน ซึ่งคณะทำงานมีบุคคลที่ร่วมทำงานกับพล.อ.บุญสร้างร่วมด้วย เพื่อขัดเกลาถ้อยคำ จากนั้นได้เสนอให้ตำรวจพิจารณา และตำรวจได้เสนอความเห็นปรับปรุง ดังนั้นจึงไม่ใช่เนื้อหาหลายฉบับตามที่ถูกตั้งข้อสังเกต นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เป็นกฎหมายเพื่อวางระบบ แต่การวางระบบจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคน หรือ ตำรวจ 2.1 แสนคน ทั้งนี้ตำรวจมีคนที่ดี คนที่เลว แต่การวางระบบที่กำหนดไว้ดีแล้ว มีสมาชิกรัฐสภาสอบถามว่าหากทำกฎหมายแล้วส่วยจะหมดไป ตั๋วจะหมดไป หรือตำรวจจะดี ประชาชนนอนตาหลับหรือไม่ ตนมองว่าหากทำระบบให้ดีที่สุด ต่อไปคือการเคี่ยวเข็ญ คนให้เข้าสู่ระบบและอาศัยการติดตาม “หลักการคือ ปรับปรุงระบบตำรวจ ปรัปบรุงอย่างไม่ไม่ถูกมัด ข้อสังเกตที่สมาชิกรัฐสภาเป็นคำแนะนำที่มีประโยชน์ จุใจ สะใจ ได้ใจ โครงสร้าง ก.ตร. กระจายอำนาจ ผูกพันชุมนุม ขอกรุณาใส่ในระบบคือ ร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติ โดยจะแก้ไขไปใช้ฉบับของพล.อ.บุญสร้างทั้งหมด หรือ ฉบับของนายมีชัยทั้งหมด หรือ นำข้อเสนอของตำรวจที่ยกออกไปกลับมาทั้งหมดก็ได้” นายวิษณุ ชี้แจง จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... ด้วยคะแนน 565 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และตั้งกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 49 คน โดยนายชวนแจ้งต่อที่ประชุมว่า สัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย 3 คนนั้นไม่ประสงค์ส่งชื่อร่วมเป็นกรรมาธิการ ส่วนรายชื่อกรรมาธิการ ที่น่าสนใจ อาทิ นายวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูป ประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม , นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. , นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ, น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย เป็นต้น