เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษามาตรการป้องกันการเกิดโรคระบาดหรือโรคติดต่อในประเทศไทย ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อสังเกตที่สำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย การควบคุมราคาสินค้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ในอนาคต การส่งเสริมและกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับสุขอนามัยในโรงเรียน การศึกษาวิจัยการใช้สมุนไพรไทยที่มีโอกาสใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) รวมถึงการกำหนดแผนดำเนินการตามมาตรการด้านการป้องกันและการดูแลตนเองจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้มีความรัดกุมและมีมาตรฐาน ทั้งนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักรับหลักการและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า รายงานฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่มีความถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เช่น การยกระดับอนามัยส่วนบุคคล การสร้างความรอบรู้ในการดูแลสุขภาพตนเอง การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เวชภัณฑ์ และทรัพยากรทางสาธารณสุข การพัฒนาฐานข้อมูลและแอปพลิเคชันเพื่อการเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สัมผัสโรค การดูแลสุขภาพและภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้นำไปพิจารณาในรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายและแนวปฏิบัติต่อไป น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า อย่างไรก็ตามทางกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังได้พิจารณาดำเนินการมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ระบุไว้ในรายงานฉบับนี้อย่างชัดเจน แต่ก็มีความสอดคล้องกับหลักการหรือข้อสังเกตหลายประเด็น เช่น มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่มีการระบาดต่ำมากโดยจะมีการลดระยะเวลาในการกักตัวให้สั้นลง แต่ยังคงระบบคัดกรองอย่างเข้มข้น และมีระบบกำกับติดตามนักท่องเที่ยวอย่างรัดกุม การเร่งกระบวนการศึกษาทดลองวัคซีนด้วยกระบวนการบริหารจัดการโครงการวิจัยที่มีประสิทธิภาพโดยสถาบันแห่งชาติและภาคี เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่มีความถูกต้อง และการปรับรูปแบบการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาด องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป