GBS ประเมินดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้แกว่งตัว Sideway Down เหตุขาดปัจจัยใหม่สนับสนุน บวกตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งทำให้มีความเสี่ยงว่าเฟดอาจยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในอนาคต และMSCI Index เตรียมลดน้ำหนักการลงทุนตลาดหุ้นไทยมีผลวันที่ 25 ก.พ.นี้ จึงประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีไว้ที่ระดับ 1,470-1,530 จุด พร้อมกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากวัคซีนโควิด-19ล็อตแรกถึงไทย ชู AWC-ERW MINT-CENTEL-CPN-CRC-SPA- AOT พ่วงหุ้นได้อานิสงส์ค่าระวางเรือปรับตัวเพิ่มขึ้น ชู TTA-PSL-RCL
น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีโอกาส Sideway Down จากความกังวลกับตัวเลขเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีโอกาสส่งผลให้นาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินได้ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบ WTI ที่อ่อนตัวลงกดดันหุ้นกลุ่มพลังงานทำให้มีแรงขายในหุ้นกลุ่มพลังงานออกมาต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน MSCI Index เตรียมปรับลดน้ำหนักการลงทุนตลาดหุ้นไทยรอบใหม่ ซึ่งจะมีผลประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ก.พ. จึงประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีไว้ที่ระดับ 1,470-1,530 จุด
ส่วนปัจจัยในประเทศนั้นนักลงทุนทยอยรับรู้ปัจจัยเหล่านี้มาในระดับหนึ่ง อาทิ การประกาศงบของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งวันที่ 1 มีนาคมนี้จะเป็นกำหนดวันรายงานผลการดำเนินงานวันสุดท้าย ซึ่งคาดว่าผลการดำเนินจะสะท้อนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการยืนยันกำหนดการวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกของประเทศไทย จำนวน 200,000 โดสจะมาถึงไทยในวันพุธที่ 24 ก.พ.นี้ ซึ่งเป็นสัญญาณบวกต่อความเชื่อมั่นมากขึ้น
ขณะเดียวกันทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)เตรียมชงศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)เพื่อพิจารณาจัดตั้งกองทุน 30,000 ล้านบาท สำหรับช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการปรับตัวให้เข้ากับสมดุลใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลาย อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการรายงานว่าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีการส่งออกโตต่อเนื่องโดยมียอดรวมในปี 63 มูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% ส่วนใหญ่ได้อานิสงส์จากการการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ปัจจัยการเมืองมีความไม่แน่นอนลดลงหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีเสียงข้างมากลงมติ “ไว้วางใจ” ฝ่ายรัฐบาลในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับปัจจัยที่ยังคงต้องเฝ้าระวังในขณะนี้อาทิ กรณีที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีการปรับลดการประเมินเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยระบุถึงองค์ประกอบทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เนื่องจากการบริโภคชะลอตัวลง ส่วนรัสเซียเองได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N8 เป็นรายแรกของโลก ซึ่งคงต้องรอดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และการแถลงตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมของของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รวมทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค และดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค
ทั้งนี้แนะนำลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกเข้าไทยวันที่ 24 ก.พ.นี้ได้แก่ AWC – ERW - MINT - CENTEL- CPN – CRC – SPA และ AOT รวมทั้งแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีค่าระวางเรือ ได้แก่ TTA – PSL และ RCL
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก ประเมินทิศทางราคาทองคำว่า มีโอกาสปรับตัวลงต่อเนื่องจากในทางเทคนิคมีการสร้าง Lower Low และอ่อนตัวลงทดสอบแนวรับ 1,765 $/Oz ซึ่งเป็นแนวรับระยะยาว โดยหากหลุดแนวรับดังกล่าวมีโอกาสอ่อนตัวลงสู่ 1,740-1,750 $/Oz ทั้งนี้การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีสู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 1.30% ยังเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติม