นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุข้อความว่า...*จะแก้จนกันด้วยรัฐธรรมนูญหรือ??
ผมยังยืนยันความเห็นเดิม ที่ต้องแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นลำดับแรก แก้ปัญหาโครงสร้างทางการเมืองเป็นลำดับที่สอง ความจริงทั้ง 2 เรื่องนี้ ปัญหาโครงสร้างทางการเมืองแก้ง่ายกว่า เพราะเพียงแก้รัฐธรรมนูญก็จบ แต่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ง่ายเลย แก้ยาก เราจึงไม่ค่อยได้ยินนักการเมืองพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ถ้าจะว่ากันอย่างตรงไป-ตรงมา อดีตหัวหน้าพรรคผม ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กับคุณกรณ์ จาติกวณิช เคยพูดเรื่อง"สังคมสวัสดิการ" บ่อยมาก และท่านน่าจะนำคำนี้มาพูดเป็นคนแรกในประเทศไทย ถึงกับกำหนดไว้เป็นนโยบายพรรค แต่เราก็พ่ายแพ้ให้แก่นโยบาย"ประชานิยม" มาตลอดมา ระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
แนวคิดสวัสดิการสังคม สู้กับ แนวคิดประชานิยมตลอด แต่เอาเถอะ ผมจะไม่ทำ และผมจะไม่เขียนเรื่องนี้ให้เป็นปัญหาทางการเมือง (รำคาญนักเลงคีย์บอร์ด) ผมได้คุยกับนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่ง ท่านแนะนำให้ศึกษาวิธีคิดของอดีตประธานาธิบดี ธีโอดอร์ โรสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อเมริกาก็มีปัญหาช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยสูงมาก แต่ก็แก้ปัญหานี้สำเร็จ เป็นต้นแบบให้ทุกประเทศ ผมจึงมีคำถาม ที่จะถามว่า ใครที่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง อดออม,อดทน,ไม่ติดอบายมุข,ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย แล้วยังลำบาก ยังยากจนอยู่บ้าง โปรดยกมือขึ้น!! หากท่าน ขยัน,อดออม,เหนื่อย,อดทน,ไม่ติดอบายมุข แล้วท่านยังยากจนอยู่ อย่าไปโทษรัฐธรรมนูญเลยครับ ที่ท่านยังจนเพราะมันเป็นปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เอื้อเฉพาะคนรวยเท่านั้น ต่อให้ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วเขียนใหม่อีก 100 ฉบับ แล้วนำรัฐธรรมนูญไปต้ม ดื่มกินน้ำต้มรัฐธรรมนูญ 3 เวลาหลังอาหาร ท่านก็ยังจน แต่ขณะเดียวกัน คนรวยอีก 10 ตระกูลของเมืองไทย เขาไม่สนหรอกว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร เขาก็ยังรวยวัน รวยคืน อยู่เหมือนเดิม ต่อให้เขานอนหลับไปแล้วตื่นขึ้นมาเขาก็ยังรวยขึ้นเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจมันเอื้อให้เขารวยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตอนหน้า ผมจะเขียนว่า ควรปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และ ปฏิรูปคนอย่างไร(เพราะมันต้องปฏิรูปความคิดของคนด้วย)