“บิ๊กตู่” ไม่แคร์ผลโหวตซักฟอก รับพูดกับ “ธรรมนัส” จริง อ้างแค่แหย่เล่น บอกกระแสปรับครม.สื่อปลุกกันเอง “บิ๊กป้อม”รับเคลียร์ใจพรรคร่วมเรียบร้อย รับคุมพรรคเล็กไม่ได้ “กลุ่มส.ส.ดาวฤกษ์” โพสต์ขอโทษ “บิ๊กป้อม-ส.ส.พปชร.” บอกแสดงออกด้วยตามหลักการประชาธิปไตย ด้าน“ณัฎฐ์ชนน” ปัด “ภท.” บีบ “พปชร.” ฟัน 6 ส.ส.ดาวฤกษ์ หักหน้า “ศักดิ์สยาม” กลางสภาฯ ชี้เป็นการลงโทษกันเอง จี้พรรคร่วม รบ.ให้ความสนใจ “มติ” หวั่นเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ส่วน “อันวาร์” แจงโหวตสวนมติพรรค เหตุยังมีคำถามคาใจ ส่วน“ฝ่ายค้าน”ถกประเมินผลหลังอภิปรายฯ เดินหน้าขยายแผล “3รมต.”ยื่นปปช.สอบต่อ พร้อมมีมติตั้งกก.ฝ่ายกม.เปิดความผิด 10 รมต.ถูกซักฟอก เมื่อวันที่ 22ก.พ.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงควันหลง การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเกิดปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องคะแนนโหวต จะส่งผลกระทบถึงการทำงานจนถึงขั้นปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)หรือไม่ ว่า ควันหลงเป็นเรื่องการเมือง ตนไม่ให้ความสำคัญตรงนี้สักเท่าไหร่ ตนดูที่ว่าเราจะแก้ไขอย่างไร แต่ละกระทรวงจะทำงานอย่างไร ให้สามารถตอบรับความต้องการของประชาชนได้ ส่วนเรื่องการทุจริต ก็ไปสอบสวนกัน เรื่องระหว่างพรรคก็เป็นเรื่องของพรรค ก็เป็นอย่างนี้มาตลอดยาวนานแล้ว ไม่ใช่มาเกิดเฉพาะวันนี้ ก็ต้องปฏิรูปตัวเองกันด้วย ทั้งในสภานอกสภา อะไรก็แล้วแต่ ตนไม่ตำหนิใคร เมื่อถามว่า นายกฯ ได้โทรหา นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ หรือไม่ หลังได้คะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้สนใจใครจะได้คะแนนมากน้อย การอภิปรายฯผ่านก็จบตรงโน้น แม้ตนได้น้อยก็ไม่ได้แคร์อะไร เพราะตนก็ผ่าน “ผมไม่จำเป็นต้องโทรหาใคร วันนั้นหลังเลิกประชุมหลายคนเดินผ่านมาแสดงความยินดีกับผม ผมก็แสดงความยินดีกับเขา ไม่ได้สนใจว่าใครจะได้เท่าไหร่ อยู่ที่ผ่านหรือเปล่า ฉะนั้นอย่างเอาเรื่องนี้ มาเป็นความขัดแย้ง ต่อไปเลย พรรคเป็นเรื่องของพรรค การจะลงคะแนนเสียงก็เป็นมติของพรรค” เมื่อถามว่า จะสยบข่าวลือเรื่องการปรับครม.อย่างไร หรือว่าเป็นความจริง นายกฯ กล่าวว่า กระแสสื่อเป็นคนปลุกปั่นขึ้นมาเอง เราไม่เคยพูด เมื่อถามถึงกรณีมีรายงานว่า นายกฯ ได้แซว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ได้ คะแนนมาก คราวหน้าให้มาเป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “พูดแหย่ พูดเล่นกัน ไม่ได้หรือ จะแซวอะไรกัน ก็เป็นเรื่องภายใน” ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีที่ 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ พรรคพปชร.โหวตสวนมติพรรค โดยงดออกเสียงให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ว่า “เดี๋ยวจะคุยกับคณะกรรมการบริหารพรรค” เมื่อถามว่า จะกระทบการทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประ วิตร กล่าวว่า“ไม่มี เดี๋ยวผมจะไปชี้แจงกับพรรคร่วมเอง” เมื่อถามว่า จะคุยกับนายศักดิ์สยาม เพื่อทำความเข้าใจ หรือ ไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คุยแล้วไม่มีอะไร เมื่อถามย้ำว่า นายศักดิ์สยามยังติดใจในเรื่องนี้อยู่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ก็ธรรมดา ถ้าคุณโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างนี้ เขาก็อยากจะรู้ว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร” เมื่อถามว่า การลงมติรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงไม่เท่ากัน เกิดจากความผิดพลาดอะไร รองนายกฯ กล่าวว่า แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน และไม่ได้อยู่ที่พรรคใหญ่ พรรคใหญ่โอเคหมด อยู่ที่พรรคเล็กจะไปคุมได้หรือ ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มดาวฤกษ์ โพสต์เฟซบุ๊กกรณีงดออกเสียงให้นายศักดิ์สยาม ระบุว่า “จากบรรยากาศทางการเมืองหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเดียร์และเพื่อน ส.ส. ดาวฤกษ์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจในพรรคร่วมรัฐบาล เดียร์และเพื่อนส.ส. ต้องขออภัย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค และเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการปฏิบัติตามจิตวิญญาณความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างดีที่สุด อย่างไรก็ตาม เดียร์ยังเชื่อมั่นในการแสดงออก จากการพิจารณาด้วยหลักการและเหตุผล ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใต้ความเป็นประชาธิปไตย” ขณะที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย(ภท.) กล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.และเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องภายในของพรรคพปชร.ที่ต้องดำเนินการเรื่องมารยาทของการอยู่รวมกันของพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อถามย้ำว่า ส.ส.ที่สวนมติพรรคจำเป็นจะต้องลาออกหรือไม่ นายชาดา กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่สามารถก้าวล่วงได้อยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคนและเป็นเรื่องภายในของพรรคพลังประชารัฐเอง ขณะที่ นายณัฎฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองโฆษกพรรคภูมิใจไทย ปฏิเสธกระแสข่าวพรรคภูมิใจไทยกดดันให้พรรคพลังประชารัฐ ดำเนินการเอาผิดกับ 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ ที่งดโหวตไว้วางใจให้กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แต่ยอมรับว่าผู้ใหญ่ทั้งสองพรรคได้พูดคุยกันจริง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลในเชิงลบ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่พรรคภูมิใจไทยได้เน้นย้ำก่อนลงมติว่า เสียงของพรรคภูมิใจไทยที่จะโหวตให้กับรัฐมนตรีคนใดจะต้องเป็นไปทิศทางเดียวกัน ซึ่งทางพรรคก็โหวตให้กับรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพของรัฐบาล “แม้ว่ารัฐมนตรีต่างพรรคบางคน ยังตอบคำถามได้ไม่ชัดเจน แต่เราก็โหวตให้ โดยไม่คิดว่าพรรคใดจะโหวตให้กับรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยอย่างไร การที่ 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์โหวตออกมาเช่นนี้ เป็นการไม่เกียรติพรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ ส.ส.ของพรรคไม่พอใจกับพฤติกรรมดังกล่าว และคิดว่าเดี๋ยวค่อยมาคิดบัญชีบาปเอาภายหลัง แต่เราจะไม่เอาก้อนหินไปปาหลังคาบ้านพลังประชารัฐ เพียงแค่คนในบ้านบางคนทำผิด ดังนั้นเราไม่ได้ตำหนิแกนนำของพรรคพลังประชารัฐเลย หรือตั้งเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล และให้การลงโทษให้เป็นเรื่องภายในพรรคที่จะดำเนินการกันเอง” นายณัฎฐ์ชนน กล่าว ส่วนกรณีที่ 1 ใน 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์บางคน อ้างความเป็น ส.ส.ใหม่ ไม่คาดว่าคิดการงดออกเสียงจะส่งผลต่อความไว้วางใจของรัฐมนตรีนั้น นายณัฎฐ์ชนน กล่าวว่า ตนเข้าใจถึงการทำหน้าที่ของ ส.ส.ใหม่ ซึ่งบางคนอาจยังไม่เข้าใจกติกาหรือมารยาททางการเมือง แต่ส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ น่าจะดึง 5 ส.ส.ในกลุ่มมาทำตามแนวคิดของตนเอง จนส่งผลกระทบต่อพรรคพลังประชารัฐในภาพรวม พร้อมระบุว่า แม้ ส.ส.ทุกคนจะมีเอกสิทธิ์ในการลงคะแนน แต่มติของพรรคก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานในอีก 2 ปีที่เหลือได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะยังมีกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับที่ต้องอาศัยเสียง ส.ส.ในสภาขับเคลื่อน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่อยากให้ปรากฏพฤติกรรมเลียนแบบที่ว่า “ใครๆ ก็โหวตสวนมติพรรค หรือมติวิปรัฐบาลได้” ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความสั่นคลอนภายในรัฐบาล ขณะที่ นายอันวาร์ สาแระ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวชี้แจงเหตุผลในการโหวตงดออกเสียงสวนมติพรรคว่า ตนมีแนวทางและหลักเกณฑ์ในใจหลังรับฟังการอภิปรายฯทั้งยังได้รับฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้นำทางศาสนา กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาจารย์ นักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มเยาวชนที่เล่นกีฬาด้วยกัน จึงขอชี้แจงถึงเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะคิดว่าเป็นแนวทางใหม่ของการเมือง และการอภิปรายฯ ในครั้งนี้ มีหลายประเด็นที่ตนคิดว่าพี่น้องประชาชนทั้งประเทศยังมีคำถามคาใจ จึงขอใช้สิทธิ 1.ของดออกเสียงให้กับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายฯทั้งคณะ 2.ขอใช้สิทธิไม่ไว้วางใจร.อ.ธรรมนัส ซึ่งเคยยกมือไว้วางใจให้ตามมติพรรคแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนี้ได้สั่งการแก้ไขนโยบาย ส.ป.ก.4-01 ซึ่งเดิมเป็นนโยบาย เพื่ออนุญาตให้คนจนทำมาหากินได้ แต่กลับไปแก้อนุญาตเอื้อให้กับนายทุนด้วย เป็นเหตุสำคัญ เพราะเรื่องนี้เคยเป็นเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องยุบสภาฯ หลังถูกกล่าวหาว่า ทำผิดพลาดเอาที่ดินไปแจกคนรวยมาแล้ว 3.ขอใช้สิทธิไว้วางใจ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย แม้จะรู้กันดีภายในพรรคว่านายนิพนธ์จะไม่ชอบตนเป็นการส่วนตัว ทั้งเคยพยายามกีดกันไม่ให้ผมลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เพราะเรื่องที่ถูกอภิปราย ยังเป็นคดีในศาล และยังไม่มีการตัดสินว่าใครถูก ใครผิด ผมจึงไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการลงมติไม่ไว้วางใจ เพราะหากศาลตัดสินภายหลังมาว่า นายนิพนธ์ไม่ผิด ผมคงเสียใจว่า เป็นคนไร้หลักการ” ที่พรรคเพื่อไทย พรรคพรรคฝ่ายค้าน และแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ร่วมประชุม เพื่อสรุปภาพรวมการอภิปรายฯ โดยมี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ พร้อมทั้งแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านคนอื่นๆเข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง นายสมพงษ์ แถลงภายหลังการประชุมว่า จากการอภิปรายฯของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้พิจารณาเรื่องความล้มเหลวของรัฐบาล มีรัฐมนตรีหลายคนอยู่ในข่ายที่จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และได้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายของทุกพรรคร่วมฝ่ายค้านขึ้นมาหนึ่งคณะ เพื่อพิจารณาความผิดของรัฐมนตรีแต่ละบุคคลว่าจะยื่นไปยัง ป.ป.ช.ในลักษณะใดบ้าง แต่พิจารณาเป็น 2 กรณี คือ 1.ความผิดทางอาญา และ2.ความผิดทางจริยธรรม ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการประชุมรัฐสภาวันที่ 24-25 ก.พ. พรรคฝ่ายค้านพร้อมดำเนินการตามสิ่งที่ได้แปรญัตติไว้ ส่วนแนวทางอื่นๆคงต้องปรึกษากันว่าจะร่วมลงมติกันอย่างไร นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่ละพรรคมีเจ้าภาพหลักในการอภิปรายแต่รัฐมนตรีละกระทรวง และจะแบ่งกันรับผิดชอบการยื่นเรื่องรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงที่ตัวเองอภิปรายไปยังองค์กรอิสระ แต่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยมีรัฐมนตรี 3 คน ที่จะถูกยื่นร้องแน่นอน คือ พล.อ.ประยุทธ์ ,นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ,นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะจบแค่นี้ เพราะรัฐมนตรีบางท่านอาจไม่ถูกยื่นไปยังองค์กรอิสระ แต่จะมีมาตรการทางการเมืองในการดำเนินการกับรัฐมนตรีทั้ง 10 คน ซึ่งทุกคนต้องได้รับการตรวจสอบ ส่วน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกระแสข่าว “นายทุน ว.” เข้ามาแทรกแซงพรรค ว่า เบื้องต้นมีคณะกรรมการวินัยของพรรคดูอยู่ หากมีการกระทำที่ส่งผลต่อเอกภาพของพรรค ทำให้เกิดความเสียหาย ขัดต่อข้อบังคับ ตนยืนยันไม่เอาไว้แน่นอน จะจัดการให้เด็ดขาด ขณะเดียวกันต้องดูว่าเป็นเพียงเรื่องส่วนตัวหรือไม่ ส่วนกรณี 4 ส.ส. พรรคก้าวไกลโหวตสวนมติพรรค นายพิธา ย้ำว่ารู้สึกผิดหวัง แต่ไม่ผิดจากที่คาดไว้ หลังจากนี้หลังปิดสมัยประชุมสภา ตนเตรียมนำส.ส.ลงพื้นที่ของ 4 ส.ส.ดังกล่าว เช่น จ.เชียงราย และจ.ชลบุรี เพื่อขอโทษและรับฟังปัญหา เนื่องจากกลุ่มส.ส.ดังกล่าวถูกลงโทษห้ามทำกิจกรรมกับพรรค ช่วงนี้คงต้องให้ส.ส.บัญชีรายชื่อในแต่ละจังหวัดทำงานแทนไปก่อน “ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ.) คณะกรรมการวินัยของพรรคจะหารือแนวทางลงโทษ 4 ส.ส.ด้วย ยืนยันไม่ขับออกจากพรรค เพราะจะเหมือนเตะหมูเข้าปากหมา และส่วนตัวในฐานะหัวหน้าพรรคจะให้ความสำคัญกับคนที่เห็นความสำคัญกับพรรคเท่านั้น นอกจากนี้ในเดือนมี.ค. พรรคเตรียมดำเนินการตามหลักสูตรการเมืองของพรรค เพื่อเตรียมพร้อมคัดคนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งส.ส.ครั้งต่อไป” ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาระบุว่าการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 20ก.พ.ที่ผ่านมา เครื่องเสียบบัตรลงคะแนนผิดพลาด เป็นเหตุให้ตัวเองกดไม่ลงคะแนน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ว่า มั่นใจว่าเครื่องมือออกเสียงมีความถูกต้อง มีผู้ลงคะแนน 400 กว่าคนไม่มีปัญหาเลย มีแต่ของนายพิธาคนเดียว และประธานในที่ประชุมก็ให้เวลาพอสมควรในการเตรียมตัว เชื่อว่าคงลงมติทัน ซึ่งนายพิธาได้กดลงคะแนนไม่ต่ำกว่า 9 ครั้ง ทำไมลงมติครั้งสุดท้ายถึงมีปัญหา ตนจึงขอฝากเป็นข้อสังเกตไว้ ส่วนจะถูกหรือผิดเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก ด้าน น.ส.สิตาวีร์ ธีรวิรุฬห์ ผู้อำนวยการสำนักสารสนเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้รับผิดชอบระบบไอซีที และระบบโหวตลงคะแนนฯ ได้ชี้แจงถึงขั้นตอนต่างๆในการลงคะแนน ตั้งแต่ขั้นตอนแสดงตน ไปจนถึงการโหวตลงคะแนน โดยกล่าวว่า ในการกดปุ่มลงมติ จำเป็นต้องออกแรงพอสมควร เพื่อป้องกันการข้อผิดพลาดในการลงคะแนนเหมือนในอดีต สำหรับปัจจัยที่เกิดขึ้นมาจาก 2 กรณี 1.กดปุ่มแสดงตนแล้วไม่ได้กดปุ่มลงมติ และ2.กดปุ่มแสดงตนแล้ว แต่กดปุ่มโหวตลงมติไม่ทันตามที่ประธานได้สั่งปิดระบบโหวต ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้เข้าข่ายในกรณีที่ 2 ซึ่งลักษณะดังกล่าวยืนยันได้ว่าเป็นความผิดพลาดส่วนบุคคล หรือ Human Error ที่อาจเกิดขึ้นได้