กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำเต็มศักยภาพ เน้นน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ พร้อมปรับเพิ่มการระบายเตรียมรับมือน้ำทะเลหนุนอีกครั้งปลายสัปดาห์นี้
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (22 ก.พ.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 38,940 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 15,398 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 9,998 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,436 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,740 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,935 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 ของแผนฯ
ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำต้นทุนมีจำนวนจำกัด จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ พร้อมสั่งการไปยังสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตามแผนบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด ภายใต้เงื่อนไขน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ ตามที่ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้มอบแนวทางให้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างปราณีต ทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม รวมทั้งได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน สำรวจปริมาณการใช้น้ำของเกษตรกร หากเพียงพอแล้วขอให้ปรับลดการส่งน้ำลงหรือส่งน้ำตามรอบเวร เพื่อสงวนน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งรักษาระบบนิเวศ ตลอดจนควบคุมคุณภาพน้ำ รวมไปถึงการเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูน้ำหลาก การจัดทำแผนรับเหตุ การกำหนดพื้นที่เสี่ยง การกำหนดผู้รับผิดชอบ การกำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ และเร่งรัดดำเนินการเก็บวัชพืชในลำน้ำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ
สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(22 ก.พ. 64) เวลา 07.00 น ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแล จ.ปทุมธานี วัดค่าความเค็มได้ 0.18 กรัม/ลิตร (มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) จากการคาดการณ์ของกรมอุทกศาสตร์ ในช่วงวันที่ 27 ก.พ.64-2 มี.ค.64 จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอีกรอบ กรมชลประทาน ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็น 70 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่เวลา 11.00 น.ของวันนี้(22 ก.พ.64) ไปจนถึงวันที่ 26 ก.พ.64 เวลา 06.00 น. หลังจากนั้นจะลดการระบายลงเหลือ 45 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนพระรามหก เป็น 45 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่ เวลา 11.00 น. ของวันนี้(22 ก.พ. 64) ไปจนถึงเวลา 06.00 น. ของวันพรุ่งนี้(23 ก.พ. 64) ก่อนจะปรับเพิ่มการระบายเป็น 55 ลบ.ม./วินาที ไปจนถึงวันที่ 27 ก.พ.64 เวลา 06.00 น. หลังจากนั้นจะปรับลดการระบายลงเหลือ 30 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมในการผลิตน้ำประปา
อย่างไรก็ดี ได้กำชับให้โครงการชลประทานลุ่มเจ้าพระยา ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมค่าความเค็มที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมขอความร่วมมือไปยังประตูระบายน้ำ อาคารชลประทานริมแม่น้ำเจ้าพระยา งดเปิดรับน้ำเข้าพื้นที่ เพื่อให้การผลักดันน้ำเค็มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด