วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่วัดเขาพระอานนท์ หมู่ที่ 1 ต.ศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี มีชาวบ้าน คณะกรรมการวัด และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล เข้าตรวจสอบและใช้เครื่องจักรขุดซากเรือโบราณขึ้นจากบ่อน้ำของวัด ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระยาลิไท แห่งอาณาจักรสุโขทัย คาดว่า เป็นเรือเดินสินค้าในยุคอยุธยาตอนปลาย เพราะในประวัติศาสตร์จุดดังกล่าว เป็นท่าจอดเรือสำคัญเชื่อมทะเลอันดามันและอ่าวไทย
หลังผู้รับเหมาในการขุดลอกสระน้ำขนาดกว้าง 30 เมตร ความยาว 50 เมตร ของวัดเพื่อบูรณะให้เป็นสระโมกขรณี ได้เจอเสากระโดงขนาดยาวกว่า 2 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร ภายในมุมด้านทิศตะวันตกของสระ ประกอบกับเคยมีคำบอกเล่าต่อกันมาว่าเมื่อ 60 ปีก่อนเคยมีคนเจอซากเรือเรือลำใหญ่แต่ไม่สามารถนำขึ้นมาได้ เพราะเครื่องมือไม่ดี จึงทำให้พระและผู้รับเหมาต้องใช้ความระมัดระวัง ในการขุดเพื่อไม่สร้างความเสียหายให้กับเรือ จนพบกระดูกงูด้านท้ายเรือ
ทั้งนี้ พระอธิการอภิชโย เจ้าอาวาสวัดเขาพระอานนท์ เล่าว่า จากประวัติบันทึกว่าวัดเขาพระอานนท์ เป็นวัดเก่าแก่ถูกสร้างขึ้นมานานประมาณ 673 ปี ตามหลักฐานทางโบราณสถานปัจจุบัน ที่มีโบสถ์มหาอุตม์ 1 ใน 3 ของสุราษฎร์ธานี ที่สร้างโดยพระยาลิไท แห่งอาณาจักรสุโขทัย บริเวณที่พบเรือเป็นท่าน้ำจอดเรือในยุคเดินทางค้าขายทางเรือในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ที่จุดนี้ถือเป็นเมืองท่าสำคัญของภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่เชื่อมกับทะเลอันดามัน ซึ่งในบริเวณใกล้เคียง ยังมีเขาศรีวิชัยก็มีการพบลูกปัดเก่าแก่ และยังมีโบราณสถานเขาศรีวิชัย
แต่การพบเรือโบราณไม่ใช่เป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้เมื่อหลายสิบปีก่อนก็เคยมีชาวบ้านพบเรือไม้ขุดโบราณขนาด 5 วามาแล้วจำนวน 3 ลำ แต่เรือลำนี้มีขนาดใหญ่กว่ามากมีขนาดประมาณ 8 วา ความกว้างเกือบ 1.5 วา และมีสภาพที่สมบูรณ์กว่าเรืออื่นที่เคยพบมาในบริเวณดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้จะพยายามขุดซากเรือขึ้นมาให้สมบูรณ์มากที่สุดก่อนจะบูรณะให้สมบูรณ์ นอกจากนั้นยังพบเครื่องดินเผาต่างๆทั้งที่สมบูรณ์และแตกหัก เช่น ขวดดินเผา ซึ่งน่าจะเป็นขวดสำหรับใส่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยังมีภาษาอังกฤษที่เป็นยี่ห้ออยู่ข้างขวด สภาพที่สมบูรณ์น่าจะถูกใช้ในยุคก่อน ค.ศ.1900 โดยสิ่งที่ขุดพบจะถูกเก็บในพิพิธภัณฑ์วัดเขาพระอานนท์ที่กำลังจะสร้างขึ้น เพื่อเป็นคลังประวัติศาสตร์ให้ประชาชนได้เขามาศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย
สำหรับวัดเขาพระอานนท์ ขณะนี้มีการบูรณะและสร้างโบราณสถานเพิ่มเติมจำนวนมาก เช่น บ่อโมกขรณี ตามแบบพุทธขยา รวมถึงทางเดินขึ้นเขาพระอานนท์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบสถ์มหาอุตม์ เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนาและแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์