จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พบมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่จ.มหาสารคาม เพื่อเป็นการป้องกันและยับยั้งการแพร่เชื้อ ให้กับคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.มานพ แย้มแฟง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายภาณุพงศ์ ภู่แพร นายจงใจ ชัยจันดี นายสายัณห์ ชำนาญเวช นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีแนวคิดในการสร้างตู้ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยรังสี UV-C ผศ.ดร.มานพ แย้มแฟง กล่าวว่า ตู้ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยรังสี UV-C ใช้ได้สำหรับฆ่าเชื้อที่หน้ากากอนามัยซึ่งปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ ของใช้ส่วนตัว เช่น กระเป๋า หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในโรงอาหารเช่น ช้อน จาน ถ้วย ตะเกียบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและยับยั้งไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อสำหรับผู้ที่จะใช้อุปกรณ์และภาชนะในโรงอาหารของ มทร.ธัญบุรี โดยตู้ฆ่าเชื้อจะใช้ หลอดรังสี UVC เพื่อผลิตรังสี UVC มาใช้ยับยั้งหรือฆ่าเชื้อในวัสดุและอุปกรณ์ที่อยู่ภายในตู้ ซึ่งชั้นวางอุปกรณ์ภายในตู้สามารถถอดประกอบและปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน หลักการทำงานของตู้ฆ่าเชื้อ นำหน้ากากอนามัยแขวนที่ราวชั้นบนสุดหรือวางบนชั้นวาง ซึ่งชั้นวางในแต่ละชั้นสามารถนำของใช้ส่วนตัว อุปกรณ์ที่ใช้ในโรงอาหารมาวางเมื่อต้องการฆ่าเชื้อก่อนที่จะนำไปใส่หรือสัมผัสกับอาหารเพื่อรับประทาน การควบคุมการทำงานของตู้ฆ่าเชื้อจะใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติที่สามารถตั้งเวลาการทำงานได้เพื่อสะดวกต่อผู้ใช้งาน และเมื่อตู้ฆ่าเชื้อทำงานเสร็จจะมีไฟแสดงที่กล่องควบคุมการทำงานเพื่อให้ผู้ใช้งานทราบ “ตู้ฆ่าเชื้อจะใช้รังสี UV-C จากหลอดรังสี UVC ที่ติดตั้งไว้ภายในตู้ ในการฆ่าเชื้อโดยนับเวลาถอยหลังซึ่งจะมีตัวเลขแสดงอยู่ที่กล่องควบคุมการทำงาน ระยะเวลาการทำงานของตู้ฆ่าเชื้อสามารถตั้งเวลาได้ เมื่อตู้ฆ่าเชื้อทำงานเสร็จจะมีไฟแสดงเพื่อให้ผู้ใช้งานทราบ ในการฆ่าเชื้อใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 15 วินาที” โดย ทาง มทร.ธัญบุรี ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรตู้ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยรังสี UV-C สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรใดสนใจ สามารถติดต่อมาได้ที่ ผศ.ดร.มานพ แย้มแฟง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ โทร.086-6634562 ด้วยสถานการณ์ในการระบาดของไวรัสโควิค-19 ระลอกใหม่ ทาง มทร.ธัญบุรี ได้ดำเนินการตามมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด