ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวPrinya Thaewanarumitkul ระบุข้อความว่า... ส.ส.ทุกคนเป็น #ผู้แทนปวงชน ประโยชน์ของปวงชนจึง #มาก่อนประโยชน์พรรค และ #ประโยชน์ของรัฐบาล ตามหลักการที่ควรจะเป็นของ ‘ระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน’ ในระบบรัฐสภา ที่ให้ ส.ส. เลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชนนั้น ยิ่งเป็น “ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล” ยิ่งควรต้องตรวจสอบรัฐบาล เพราะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจึงยิ่งต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ตนเลือกเข้าไป ที่สำคัญ ส.ส. เป็น “ผู้แทนปวงชน” ดังนั้น ส.ส.ทุกคนไม่ว่าฝ่ายไหน หรือสังกัดพรรคใด จึงต้องปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์ของปวงชนมากกว่าประโยชน์ของพรรคการเมืองที่สังกัด และดังนั้น แม้จะสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องเห็น #ประโยชน์ของปวงชนมาก่อนประโยชน์ของรัฐบาล แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีปัญหามาก ก็ยังรู้จักและรับรองหลักนี้ และให้เสรีภาพในการทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนไว้ ไม่ให้ใครมาครอบงำโดยบัญญัติไว้ที่มาตรา 114 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใด ๆ ..” การไปเข้าใจว่าฝ่ายค้านเท่านั้นที่มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกป้องรัฐบาล จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และเป็นจุดอ่อนของระบบรัฐสภาที่สร้างปัญหากับหลักการแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบถ่วงดุลของประเทศไทยมาโดยตลอด หน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลไม่ใช่แค่หน้าที่ของฝ่ายค้าน แต่เป็น #หน้าที่ของผู้แทนปวงชนทุกคน ไม่ว่าจะสังกัดพรรคไหน ถ้านายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนใด ยิ่งทำหน้าที่ต่อไป บ้านเมืองยิ่งมีปัญหา ก็ต้องสมควรไม่ไว้วางใจ เพื่อให้มีคนใหม่ที่ไม่มีปัญหา มาทำหน้าที่แทน ท่านจะลงมติไว้วางใจหรือไม่ เป็นเสรีภาพของท่าน แต่พึงตัดสินใจด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงที่เอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ยังไงก็ต้องไว้วางใจเพราะเป็น “ฝ่ายรัฐบาล” ส.ส. ทุกคนคือ “ฝ่ายปวงชน” ไม่ใช่แค่ “ฝ่ายรัฐบาล” หรือ “ฝ่ายค้าน” ที่จริงผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าท่านผู้แทนปวงชนของเราส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นฝ่ายรัฐบาลจะเข้าใจความข้อนี้หรอกครับ แต่อย่างน้อยขอเพียงบางคนเข้าใจ และทำหน้าที่ “ผู้แทนปวงชน” อย่างแท้จริง ประชาธิปไตยที่มีปัญหาของเราก็จะเริ่มเกิดการ #เปลี่ยนแปลง ได้ครับ