เปลวไฟที่ลุกโชนกำลังเผาไหม้เหล็กกล้าจนเป็นสีแดงฉาด ก่อนถูกหยิบมาตีให้ได้รูปทรงตามแบบฉบับกริชโบราณ จากช่างฝีมือคนรุ่นใหม่วัย 30 ปีที่รู้จักในวงการ “กริชสตูล” ที่ไม่มีใครบอกว่าไม่รู้จักช่างเลาะห์ หรือนายธันวา เด็นหลี บ้านเลขที่ 117 หมู่ที่ 7 บ้านกุบังจามัง ตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
ช่างหนุ่มคนรุ่นใหม่ที่หลงเสน่ห์ของ “กริช” มาร่วม 10 ปีที่แล้ว และค้นพบตัวตนเองพร้อมเดินหน้าเลือกศึกษาขั้นตอน กระบวนการทำกริชจากโซเชียล แม้การศึกษาจะเพียงมัธยมตอนปลาย แต่ฝีมือการทำลวดลายบนตัวมีด ปลอก และด้านจับ ที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ บวกกับใจรักผสมผสานกันในการสร้างสรรค์ชิ้นงานคุณภาพให้ผู้ที่หลงใหลและคลั่งใคล้ศาตราวุธโบราณนี้อยากจะมีไว้เพื่อครอบครอง
กริช หรือ มีดสั้น ในอดีตได้รับความนิยมมีไว้ครอบครองในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังได้รับอิทธิพลมาจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย กริช ชายสูงศักดิ์จะนิยมมีไว้ครอบครองเพื่อเป็นศาสตราวุธข้างกาย ในปัจจุบันหลายประเทศชนชั้นสูงก็ยังพกกริชมีให้เห็น ปัจจุบันมีนักสะสมหลายคนมีไว้ครอบครองเป็นความหลงใหลและคุณค่าทางจิตใจมากยิ่งขึ้น ขณะที่ช่างทำกริชก็ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
ช่างเลาะห์ คนรุ่นใหม่ชาวสตูลเลือกทำ กริชสตูล ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของสตูล ที่แตกต่างจากกริช รามันยะลา ด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว อีกทั้งอยากจะเป็นคนหนึ่งที่อนุรักษ์ของเก่าโบราณให้คนรุ่นใหม่ได้ช่วยกันสืบทอด ก่อนที่ช่างตีกริช จะสาปสูญไปจากพื้นที่สตูล
แม้วันนี้ช่างเลาะห์ จะเป็นทั้งช่างตีกริช ช่างทำปลอกและหัวกริช ในคนเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ช่างหนุ่มคนสตูลนี้อยากเห็นคือการส่งเสริมจากภาครัฐให้มีการอนุรักษ์กริชสตูล เพื่อรื้อฟื้นให้ร่วมกันอนุรักษ์ และส่งเสริมอาชีพช่างตีกริชให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ซึ่งช่างเลาะก็พร้อมจะใช้พื้นที่บ้านตนเป็นศูนย์เรียนรู้ บูรณะกริชที่หลายคนครอบครองและทำขึ้นมาใหม่
โดยความใฝ่ฝันอยากจะทำชิ้นงาน กริช ตามแบบฉบับตนเองแต่มีกลิ่นไอเสน่ห์กริชโบราณสตูลผสมผสานอยู่ด้วย โดยทุกวันนี้มีออเดอร์จากนักสะสมกริช บ้างก็นำของเก่ามาบูรณะ บ้างก็สั่งทำขึ้นมาใหม่ ผู้ชื่นชอบสะสมจะมีทั้งชายและผู้ใหญ่ โดยช่างเลาะห์จะรับทำเริ่มตั้งแต่ราคา 2,000 บาท เฉพาะปลอก และหัว ไปจนถึง 5,000 บาทขึ้นรูปแบบใหม่ตามแบบฉบับโบราณกริชสตูล ไปแตะที่หลักหมื่นบาทแล้วแต่เนื้อไม้และเหล็กที่ใช้ทำกริช สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 080 549 7640