เมื่อเวลา 09.30. น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบล (ทต.) หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวีรกุล หวังวีระ ปลัดอาวุโสอำเภอเมือง นครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 224 ถนนเพชรมาตุลา ตอนนครราชสีมา-หินโคน กับทางหลวงหมายเลข 226 ถนนราชสีมา-โชคชัย หรือทางแยกหัวทะเล (กลุ่มย่อยครั้งที่ 4) โดยมีผู้แทนส่วนราชการและภาคประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการค้าละแวกทางแยกหัวทะเลและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน 100 คน รับฟังนายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการชี้แจงความเป็นมาและบทสรุปผลคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะสมซึ่งมี 4 ทางเลือก ทั้งนี้ช่วงแสดงความคิดเห็นปรากฏเสียงคัดค้านเกือบ 100 % ระบุแจ้งข้อมูลไม่ครอบคลุมและไม่ทั่วถึงรวมทั้งการงุบงิบเสนอทางเลือกรูปแบบก่อสร้างทางแยกต่างระดับหรือสะพานจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคต ดังนั้นการประชุม 3 ครั้งที่ผ่านมา จึงไม่ชอบตามกระบวนการมีส่วนร่วมและต้องให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษีด้วย ทุกครั้งที่เปิดให้แสดงความคิดเห็นก็มีเสียงคัดค้านตลอดทำให้การประชุมต้องหยุดชะงัก นายสยุมโพธิ์ วิศวกรโครงการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันทางหลวง 224 เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างตัวเมือง นครราชสีมากับอำเภอที่อยู่ติดกับพรมแดนประเทศกัมพูชาของจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ จุดเริ่มต้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีทางแยกจากถนนมิตรภาพ บริเวณทางแยกนครราชสีมา ไปทางทิศตะวันออกตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205 ถนนสุรนารายณ์ โค้งลงทิศใต้ไปอำเภอโชคชัย จ.นครราชสีมา ตัดกับทางหลวงแผ่นดิน 24 ถนนเดชอุดม-สีคิ้ว และทางหลวง 226 สภาพปัจจุบันบริเวณทางแยกหัวทะเล ถือเป็นย่านการค้าสำคัญโดยมีลักษณะเป็นสามแยกระดับพื้นบริการการจราจรด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร มีปริมาณจราจรเกินขีดความสามารถระบบควบคุมสัญญาณจะรองรับได้ กรมทางหลวงจึงมีแผนดำเนินงานแก้ไขปัญหาการจราจร ลดอุบัติเหตุและปรับปรุงบริเวณทางแยกหัวทะเล สามารถรองรับการจราจรได้ทุกทิศทางรวมถึงการยกระดับมาตรฐานการให้บริการที่ดีและเกิดประสิทธิภาพการเดินทางในอนาคต อย่างไรก็ตามการพัฒนาอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน คุณภาพชีวิต วิถีชีวิตท้องถิ่น จึงได้เล็งเห็นความสำคัญการมีส่วนร่วมของประชาชนให้รับทราบข้อมูลรายละเอียดโครงการและมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการศึกษา สำรวจและออกแบบในทุกขั้นตอนที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาโครงการตั้งแต่เริ่มขั้นตอนจนสิ้นสุดกระบวนการ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจและยอมรับรวมทั้งสนับสนุน กำหนดกรอบเวลาการศึกษา 1 ปี หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยจะนำเสนอให้กรมทางหลวง นำไปปรับปรุงหรือหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมต่อไป ด้านนายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล หรือป๋าซิม เจ้าสัวเมืองโคราช ประธานกรรมการบริษัทแผ่นดินทองและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน มิตซูบิชิและเอ็มจี กล่าวว่า สะพานข้ามทางแยกสร้างที่ไหน ธุรกิจเจ็ง เช่นตัวอย่างสะพานข้ามทางรถไฟโรงแรมสีมาธานี สะพานรถไฟหัวทะเล สะพานจอหอ ประเทศที่เจริญเขาหลีกเลี่ยงการสร้างสะพานปรับเปลี่ยนเป็นอุโมงค์หรือทางลอดแทนแต่ทั้งสะพานและทางลอดใช้งบมาก ควรปรับเป็นทางวงเวียนที่มีผลกระทบน้อยกว่า กรณีการเวนคืนที่ดินบางส่วนหากติดขัดตรงไหนตนพร้อมช่วยประสานงานให้ราบรื่น นายกฤษชัย เลิศพรเจริญ เจ้าของบริษัท กิจสยามสตีลบาร์ส จำกัด กล่าวถึงการแก้ปัญหาโดยก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกส่งผลกระทบเป็นมุมกว้าง โคราชมีบทเรียนหลายแห่ง ทั้งเศรษฐกิจซบเซาและกลางคืนเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ซึ่งไม่ตอบโจทย์กับบริบทที่เกิดขึ้นในอนาคต