บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) ตำนานประชาธิปไตย 88 ปีถึงปัจจุบัน มีประเด็นเชื่อว่าคนที่เป็น “นักการเมือง” (Politicians) นั้นต้องยึดถือระดับคุณธรรมจริยธรรมที่สูงกว่าคนที่เป็นพ่อค้าหรือนักธุรกิจ ก็เพราะว่านักการเมืองนั้นต้องเข้ามาบริหารบ้านเมืองในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้เลือกตนมาเป็น “ผู้แทน” เพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนตนในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยพื้นฐานที่สุด ในบรรดานักการเมืองทั้งหลายนั้น ในระดับท้องถิ่นก็มีความสำคัญมาก เพราะถือเป็นระดับรากหญ้า (Grassroots) เป็นรากฐานของสังคมเปรียบเหมือนรากแก้วของต้นประเทศชาติ คำว่าประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งของไทยนั้นมีตำนานยาวนานถึง 88 ปี แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่มวลประชาชนคาดหวัง ในที่นี้หวังเพียงการเลือกเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นหรือที่เรียกว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) เราจะแก้ไขปัญหาจริยธรรมของนักการเมืองท้องถิ่นได้อย่างไร เพราะมักได้ยินข่าวเสมอๆ ว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ว่าราชการจังหวัด” สั่งให้นายก อปท.พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุ เสื่อมเสียศีลธรรม หรือกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบฯ ตามการชี้มูลของ ป.ป.ช. หรือ ตามสำนวนการสอบสวนของผู้กำกับดูแลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้ อปท.ไปสร้างค่านิยมใหม่ๆ แก่ระดับชาติ ไม่ควรให้ระดับชาติมาชี้นำ สมควรที่จะสร้าง New normal ใหม่ให้บ้านเมืองในยุคเปลี่ยนแปลงโซเชียลที่รวดเร็วมาก เพราะจากสถานการณ์ความผันผวนของโลกาภิวัตน์มันทำให้เป็นสังคมที่สภาพไม่ปกติ (Abnormal society) กลายเป็นสังคมแห่งการดิ้นรน (Scrabble society) ในทุกๆ ด้านมากขึ้น นักการเมืองท้องถิ่นมีจริยธรรมเพียงใด เป็นประเด็นคำถามว่า นายก อปท. และสมาชิกสภา อปท. มีจริยธรรม มีวินัยหรือไม่ อย่างไร คำถามนี้จึงวกมาที่ “นักการเมืองมีจริยธรรมหรือไม่” หากมี จริยธรรมทางการเมืองคืออะไร จำเป็นต้องมีมากน้อยเพียงใด ความหมายของคำว่า “จริยธรรมของนักการเมือง” ในที่นี้คือหลักเกณฑ์หรือข้อปฏิบัติที่ดี หรือการประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามของผู้ทำหน้าที่ทางการเมือง ใน 7 ประการ ได้แก่ การไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน (Selflessness) ความซื่อตรง (Integrity) การไม่มีอคติ (Objectivity) การมีสำนึกรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติตามหน้าที่ (Accountability) ความเปิดเผยและจริงใจ (Openness) ความซื่อสัตย์ (Honesty) และความเป็นผู้นำ (Leadership) แต่คนทั่วไปเข้าใจว่า “ความดี” (Merit or a good deed) คือการกระทำของบุคคล ที่ส่งผลต่อบุคคลอื่น ต่อคนกลุ่มอื่น ต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้รับประโยชน์อานิสงค์ในสิ่งดีงาม ก้าวหน้า สร้างสรรค์ เจริญรุ่งเรืองฯ ซึ่งความดีนั้น มักแยกแยะได้เป็นเรื่องๆ เป็นครั้งๆ ไป ความดี จะต้องควบคู่กับคำว่า “คุณธรรม” (Morality/Virtue) ซึ่งคำนี้จะเน้นที่ “จิตใจ” (Mind) มักจะเกี่ยวข้องกับคำว่า “ศีลธรรม” (Moral) คือการทำดี ประพฤติดี ประพฤติชอบ ไม่ทำชั่ว (Evil Mind) โดยเป็นปกตินิสัย หรือเป็นอาจิณ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวม เป็น “จิตอาสา”(Public Mind) เป็นอาสาสมัครใจโดยแท้ (Volunteer) โดยนัยนี้อาจเห็นว่า การกระทำความดีนั้น ผู้กระทำหลายคนยังเล็งผลตอบกลับ หรือคาดหวังในผลตอบแทน แต่ คนที่เสียสละสร้างคุณธรรมมักจะไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จากการกระทำ แต่เป็นการกระทำด้วยใจรัก ใจสมัครอยากให้ผู้อื่นได้ดี มีชีวิตที่ดี นี่คือความคาดหวังของ “ปูชนียบุคคล” คนที่ควรเคารพบูชาในท้องถิ่น เพราะหากมีบุคคลจำพวกนี้มากเท่าใด บ้านเมืองย่อมดีเท่านั้น อีกคำคือคำว่า “จริยธรรม” (Ethics) คำนี้โดยนัยเป็นการแสดงออกต่อสังคม ต่อบุคคลอื่นแต่ในเรื่องดีงาม มีจิตใจที่สะอาด บริสุทธิ์ ที่เป็นแบบแผนจรรยาบรรณของความประพฤติ (Code of Conduct) ที่ถือเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะคนที่มีวิชาชีพ (Professional) ในสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ วิศวกร ทนายความฯ เหล่านี้ยิ่งต้องมีจรรยาในวิชาชีพต่อลูกค้า ต่อสังคม มากกว่าคนปกติทั่วไป ที่เรียกว่า ต้องมี “ประมวลจรรยาอาชีพ” (Code of Ethics) ซึ่งคำเหล่านี้ย่อมผูกติดหนีไม่พ้นจากคำว่า “สำนึกรับผิดชอบ” (Accountability) ต่อสังคม ที่เรียกว่า “เป็นประโยชน์โดยรวม” หรือ “เพื่อสาธารณะประโยชน์” (Public Interest) เป็นสำคัญ สรุปว่า คำว่า “คุณธรรม” (Morality/Virtue) และ “จริยธรรม” (Ethics) ที่กล่าวถึงและนำไปใช้ในความหมายที่แยกกันไม่ออก บางครั้งก็เรียกควบกันไปเป็นคุณธรรมจริยธรรม ที่มีความใกล้เคียงกับคำว่า “ศีลธรรม” (Moral) มาก ซึ่งท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร นำไปผูกโยงกับกฎหมายว่า "กฎหมาย ศีลธรรม จริยธรรมต้องรวมอยู่ด้วยกัน" (Laws - Moral - Ethics must be merge together) การทำความดีของคนทั่วๆ ไปในเบื้องต้น แม้ยังสรุปผลไม่ได้ว่า บุคคลนั้นเป็นคนดีเพียงใดหรือไม่ เพราะเขาอาจจะกระทำเพียงแค่หวังผลตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่การกระทำที่เป็นปกตินิสัยจากก้นบึ้งในจิตใจ ถ้าหนักไปกว่านั้น มันก็เป็นแค่ “จริตเสแสร้ง” หรือ “มายาคติ” (Myth, Illusion) เท่านั้นเอง ซึ่งหลายคนด่วนสรุปว่า คนที่ทำดีต่อตน ต่อสังคม ที่แสดงให้เห็นนั้น เป็นคนที่เพียบพร้อมในคุณงามความดี ซึ่งไม่ถูกทีเดียวนัก ฉะนั้น ในการแสดงออกซึ่งจริยธรรมที่ดีงามของคน เพื่อแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า “เป็นคนที่มีจริยธรรมคุณธรรม” อย่างเสมอต้นเสมอปลายในผลแห่งรูปธรรมว่า เป็นคนที่ผู้อื่นควรยึดถือเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติแก่คนรอบข้างทั่วไป ดังนั้น “การกระทำดีต่อหน้าของนักการเมือง” ที่คนมองเห็นในที่แจ้งยังสรุปไม่ได้ว่า นักการเมืองคนนั้น จะมีจริยธรรมในที่ลับตาคน หรือไม่ เพราะการวัดผล ต้องการเวลา ต้องการหลักฐาน ประกอบมากมาย เหตุปัจจัยแห่งอบาย เหตุปัจจัยที่สำคัญก็เพราะ มีสิ่งล่อลวงให้คนอยากมี อยากได้ลุ่มหลงในยศถาบรรดาศักดิ์เงินทอง ที่นักการเมืองต้องไม่มี “การขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม” ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ต้องแยกผลประโยชน์ทับซ้อนให้ออกจากกันให้ได้ เพื่อตัดวงจรแห่งการละเมิดศีลธรรม ตัดความโลภ การทุจริตมิชอบฯ ในตำแหน่งหน้าที่ มีคำถามว่า ต้นเหตุปัจจัยมาจากสิ่งใด ที่ทำให้คนที่เป็นนักการเมือง “ไม่มีคุณธรรม” เหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้นักการเมืองออกนอกกรอบ 10 ประการ คือ (1) โอกาส (opportunity) ที่เอื้ออำนวย กฎหมายมีช่องโหว่ ระเบียบมีช่องว่าง (2) มีตำแหน่งหน้าที่ (Authority) ในการอนุมัติ อนุญาตฯ (3) มีสิ่งจูงใจ (Incentive) มาล่อ เช่น เงินทองผลประโยชน์ฯ (4) ชื่อเสียงเกียรติยศทางโลก (Reputation & Honor) (5) ขาดอุดมการณ์ (Ideology) (6) ขาดวิสัยทัศน์ (Vision) หรือคับแคบ (7) มีวัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture) ในผลประโยชน์ทับซ้อนเห็นเป็นเรื่องปกติ (8) ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรี (Liberal Capitalism) เน้นวัตถุนิยมมากกว่าจิตใจ (9) ประชาชน (People) ขาดข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง (10) สังคมไทย (Thai Society) เป็นระบบอุปถัมภ์ (Patron-Client System) ที่เน้นผลประโยชน์มากกว่าคุณธรรมความถูกต้อง การเลือกตั้งท้องถิ่นเชิงสมานฉันท์ ห้วงนี้เป็นช่วงเวลาการเลือกตั้งของท้องถิ่น คือ การเลือกตั้งเทศบาลในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 แนวคิดเชิงสมานฉันท์เลือกตั้งท้องถิ่น เช่น ก่อนการเลือกตั้ง ก็มีการจัดเวทีประชุมสมานฉันท์ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล และผู้ช่วยผู้สมัคร (คนช่วยหาเสียง ตัวแทนผู้สมัคร) กกต.เทศบาล ผอ.และ ผู้ช่วยเหลือเทศบาล มีเป้าหมายกิจกรรมสำคัญเพื่อสร้างความเข้าใจปรองดองกัน จับไม้จับมือกัน ให้คำสั่นสัญญา ดื่มน้ำสาบานฯ ว่าจะไม่โกง จะเป็นคนดี ทำในกติกา ไม่ซื้อเสียง รู้แพ้รู้ชนะ ไม่ร้องเรียนกลั่นแกล้งกล่าวหาซึ่งกันและกัน ฯ จะช่วยยกมาตรฐานจริยธรรมได้หรือไม่ อย่างไร หรือ เป็นเพียงแนวคิดแบบไฟไหม้ฟางที่ฉาบฉวย ใช้ไม่ได้ในระยะยาว เพราะไม่ได้ปลูกฝังคุณธรรมใดๆ ต่อผู้เลือกตั้งทั้งหลาย นี่เป็นเพียงบทรำพึง ในระดับท้องถิ่น ซึ่งในระดับชาตินั้น ตามมาตรา 279 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้มีประกาศ “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561” ในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 30 มกราคม 2561 เพื่อเป็นกรอบบังคับจริยธรรมแก่นักการเมืองและองค์กรอิสระแล้ว รวม 22 ข้อ ตามบทบัญญัติในอารัมภบทแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ