สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
พระนาคปรก กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี ถึงแม้จะไม่โด่งดังเทียบเท่าพระนาคปรกกรุวัดปืน แต่เรื่องพุทธศิลปะและพุทธลักษณะนั้นมีความงดงามเป็นที่หนึ่งในพระนาคปรกทั้งปวงทีเดียว เป็นที่นิยมและแสวงหาไม่แพ้กัน และหายากพอๆ กัน เรียกว่า กินกันไม่ลง
การค้นพบ
ในช่วงที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเสื่อมโทรมลง หลังจากที่บ้านเมืองต้องร้างเนื่องจากภัยสงครามนั้น บรรดาของมีค่าที่บรรจุอยู่ภายในเจดีย์ได้ถูกนักแสวงหาสมบัติขุดทำลาย เพื่อหาของมีค่าต่างๆ บรรดาพระบูชา และพระเครื่องที่ถูกขุดค้นนั้น มีหลายศิลปะคละเคล้ากันไปตั้งแต่ทวารวดี ลพบุรี และอยุธยา ปรากฏพบพระพิมพ์นาคปรกมากที่สุดถึง 30 พิมพ์ และพุทธลักษณะของแต่ละพิมพ์ มีความวิจิตรงดงาม โดยฝีมือสกุลช่างขอมแบบมหายานและยังเป็นฝีมือช่างหลวงทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีการขุดพบพระพิมพ์นี้ในที่อื่นๆ ของเมืองลพบุรี แต่จะเป็นฝีมือช่างชาวบ้าน ซึ่งมีพุทธลักษณะพิมพ์ทรงและพุทธศิลป์ที่ด้อยกว่า อาทิ กรุวัดบันไดหิน รวมทั้ง กรุวัดปืน ที่ขึ้นชื่อโด่งดังในด้านมหาอุดด้วย
เนื้อหามวลสาร
พระนาคปรก กรุวัดพระศรีฯ จ.ลพบุรี พบทั้ง เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง เนื้อดิน เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อชินเงิน ที่พบมากที่สุดจะเป็น เนื้อชินเงิน ซึ่งมีคราบปรอทขาววาววับคลุมทั่วองค์พระ
พุทธลักษณะ
องค์พระมีขนาดเขื่องกว่ากรุอื่นๆ กว้างประมาณ 2.5 ซ.ม. สูงประมาณ 5 ซม. พระประธานประทับนั่ง ปางสมาธิ เหนือขนดนาค บนฐานลักษณะเส้นตรงยาวเรียบ 3 ชั้น เบื้องหลังมีพญานาค 7 เศียร แผ่พังพานเหนือพระเศียร
พระนาคปรก กรุวัดพระศรีฯ จ.ลพบุรี ที่มีพิมพ์ต่างๆ ถึง 30 พิมพ์ นั้น พิมพ์ที่เป็นที่นิยมที่สุด คือ พิมพ์จีโบใหญ่ (หรือชีโบใหญ่) เนื้อชินเงิน ซึ่งถือเป็นพิมพ์สากล และเป็นศิลปะลพบุรีบริสุทธิ์
แนวทางการพิจารณาพระนาคปรก พิมพ์ชีโบใหญ่
พระนาคปรก พิมพ์จีโบใหญ่ นี้ ยังมีลักษณะเฉพาะกว่าพิมพ์อื่นๆ ตรงส่วนฐานที่สามารถแยกเป็น 3 พิมพ์ย่อย คือ มีทั้งฐานชั้นเดียว ฐาน 2 ชั้น และ ฐาน 3 ชั้น มีจุดสังเกตและมีหลักการพิจารณาเอกลักษณ์แม่พิมพ์ในเบื้องต้นดังนี้
ตำหนิที่ 1 พระมาลาสวมมงกุฎ แบบจีโบสามชั้น (จีโบ คือ หมวกโบราณ ขอบยาวลงมาปิดหู เพื่อกันความหนาว เวลาไม่ใช้พับขึ้นมาได้) อันเป็นพุทธศิลป์ของยุคลพบุรี
ตำหนิที่ 2 พระพักตร์มีความคมชัดพอประมาณ
ตำหนิที่ 3 พระกรรณทั้งสองข้างใหญ่และยาวจรดสร้อยพระศอ
ตำหนิที่ 4 พระวรกายลํ่าสันสมบูรณ์ แต่ไม่ปรากฏพระนาภี (สะดือ)
ตำหนิที่ 5 พระหัตถ์ทั้งสองข้างประสานในลักษณะสมาธิ และมีวัตถุทรงกลมเล็กๆ (คล้ายลูกแก้ว) บนพระหัตถ์
พุทธคุณ
พระนาคปรก กรุวัดพระศรีฯ จ.ลพบุรี มีพุทธานุภาพครบครัน โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรีครับผม