ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ธุรกิจแบบจีนคือการ “โอบอุ้มกัน” มากกว่าที่จะ “ฆ่าฟันกัน” นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากเป็นพวกที่มาจากต้นตระกูลแบบ “เสื่อผืนหมอนใบ” หรือ “มาตายเอาดาบหน้า” ต้องต่อสู้ดิ้นรน ฝ่าฟันพยายาม และเอาตัวรอดมาอย่างทรหด หลาย ๆ คนที่ดูหนังจีนแบบเจ้าพ่อทั้งหลายคงจะนึกถึงการฆ่าฟันกันอย่าง “คมเฉือนคม” คือใช้เล่ห์เหลี่ยมและอาวุธสารพัดมาประหัตประหารกัน เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองทางธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนจีนเป็นพวกที่แตกแยกกันยากมาก และชอบที่จะ “เอาพวกเอาพ้อง” ช่วยเหลือกัน ให้อยู่รอดและเติบโตไปด้วยกัน สมเกียรติเติบโตมาในถิ่นธุรกิจคนจีนดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นที่ราชวงศ์ เยาวราช หรือรองเมือง ที่ราชวงศ์เป็นย่านค้าขายส่งสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ข้าว พืชผล อาหารแห้ง เสื้อผ้า ไปจนถึงของใช้กระจุกกระจิก กิจการเหล่านี้มักจะมี “เถ้าแก่ใหญ่” อยู่ไม่กี่คน ที่สามารถจะกำหนดราคาหรือควบคุมปริมาณการซื้อขายได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่แทนที่ที่เถ้าแก่ใหญ่เหล่านี้จะกดราคาหรือเอาเปรียบในทางการค้า แต่พวกเขากลับพยายามที่จะเอื้อเฟื้อแก่ลูกค้าระดับต่าง ๆ แบบ “เติบโตไปด้วยกัน” คือไม่ได้เอากำไรมากสำหรับการขายส่ง และพยายามที่จะให้มีการกระจายตัวของสินค้าอย่างทั่วถึงไปยังผู้ค้ารายย่อย ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงกันไปอย่างราบรื่น อันจะนำมาซึ่ง “การอยู่รอดร่วมกัน” เพราะถ้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบ การค้าขายก็จะหยุดชะงักไปทุกระดับ ซึ่งก็จะทำให้แม้แต่ผู้ค้ารายใหญ่คือเถ้าแก่ใหญ่นี้อยู่ไม่ได้ ในทำนองเดียวกันกับเยาวราชที่ค้าขายทองคำ ก็ใช้ระบบการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เพื่อไม่ให้มีการกดราคาหรือปล่อยราคาในการซื้อขายทองคำกันจนผิดปกติ คือให้เป็นราคาเดียวกันไปทั้งระบบ ซึ่งก็คือให้การค้ารุ่งเรืองไปด้วยกันนั่นเอง ส่วนที่รองเมืองที่เป็นย่านค้าเหล็กก็ต้องพึ่งพากันเป็นอย่างมาก เพราะจะต้องเชื่อมโยงไปยังหลาย ๆ กลุ่มลูกค้า ทั้งในการก่อสร้าง การอุตสาหกรรม จนถึงการเกษตร ที่จำเป็นจะต้องค้าขายร่วมกัน โดยระบบทั้งหมดไม่ว่าจะค้าขายขายอะไร จะมั่งคั่งรุ่งเรืองเติบโตก็ด้วยการโอบอุ้มซึ่งกันและกันนี้ทั้งสิ้น ที่กระทรวงพาณิชย์ใน พ.ศ. 2531 - 2533 นอกจากปัญหาเรื่องมันสำปะหลังแล้ว ก็มีปัญหาเรื่อง “สิ่งทอ” คือยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะควบคุมปริมาณการนำเข้าให้แก่พ่อค้าคนไทยไปในหลาย ๆ รายการของผลิตภัณฆ์สิ่งทอ ตามนโยบายของการ “ล่าเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ” โดยอำพรางด้วยการให้สิทธิพิเศษทางการค้า ที่อ้างว่าเป็นความช่วยเหลือที่ให้แก่ประเทศที่ด้อยหรือกำลังพัฒนา และด้วยนโยบายนี้ก็จะเป็นการควบคุมราคาการส่งออกไปด้วย ทำให้ประเทศในยุโรปและที่สหรัฐอเมริกาได้ใช้สินค้าในราคาควบคุมที่ค่อนข้างถูก แต่กระนั้นด้วยปริมาณที่มีการบริโภคในประเทศเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ส่งออกพยายามแย่งชิง “โควต้า” คือปริมาณการส่งออกที่ถูกควบคุมไว้นั้น เพราะถ้าใครได้อนุมัติให้ส่งออกแล้วก็จะกำไรเป็นจำนวนมหาศาลอย่างแน่นอน โดยกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องพยายามควบคุมทั้งปริมาณและราคานั้นให้ดี เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตทั้งระบบ ที่รวมถึงลูกจ้างแรงงานในโรงงานผลิตภัณฑ์สิ่งทอต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย สมเกียรติเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้ามาทำหน้าที่ในการประสานงานระหว่างกลุ่มพ่อค้าสิ่งทอกับกระทรวงพาณิชย์ เขาบอกว่าปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้การค้าสิ่งทอนี้ยุ่งเหยิงเอามาก ๆ ก็คือการตัดราคากันของผู้ส่งออก ทำให้กำไรน้อยลง แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือทำให้ค่าจ้างคนงานลดลงตามไปด้วย เพราะต้องไปจ้างแรงงานราคาถูก รวมถึงทำให้สิ่งทอไทยไม่ก้าวหน้าไปกว่าที่จะผลิตแต่ผลิตภัณฑ์ราคาถูก จำพวกเสื้อยืด เสื้อกล้าม และกางเกงใน แต่ด้วยราคาที่ต่ำเช่นนี้ทำให้การส่งออกย้ายที่ผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า ทำให้สิ่งทอไทยมีคู่แข่ง และรัฐบาลไทยต้องคิดหนัก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลในยุคนั้นที่นำโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จึงได้มีนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” (นโยบายนี้มีความหมายเป็น 2 นัยยะ คือ ก่อนหน้านี้ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ คือ ลาว เขมร และเวียตนาม เต็มไปด้วยสงครามจากการยึดครองของคอมมิวนิสต์ รวมถึงที่ส่งปัญหากระทบกระทั่งมาตามแนวชายแดนต่าง ๆ ของไทยอีกด้วย นัยยะแรกจึงเป็นเรื่องของการที่จะสร้างพันธมิตรในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจะพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน อันจะนำไปสู่นัยที่สอง คือ ลดการฟาดฟันกันทางการค้าซึ่งเป็นสงครามอีกแบบหนึ่งในการเมืองระหว่างประเทศสมัยใหม่) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็คือกระทรวงหลักที่จะต้องเดินหน้าในนโยบายนี้ ดร.สุบิน ปิ่นขยัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในตอนนั้น ได้ให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำลิสต์กลุ่มการค้าที่จะต้องไปสร้างความร่วมมือในทางการค้ากับลาวและเวียตนาม ที่จะเป็นสองประเทศแรกที่ดำเนินการตามนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้านั้น แน่นอนว่าสมเกียรติก็เป็นคนหนึ่งที่ร่วมเดินทางไปด้วย โดยสมเกียรติได้เสนอรายชื่อของพ่อค้ากลุ่มต่าง ๆ มาอีกหลายคน แต่เพื่อไม่ให้คณะมีขนาดใหญ่เกินไปก็คัดเลือกให้รัฐมนตรีเห็นชอบได้ราว 20 คน โดยมีกลุ่มพ่อค้าของสมเกียรติเพียง 4-5 คน ร่วมกับข้าราชการและนักการเมือง ก็จะมีจำนวนเกือบ 40 คน ทั้งนี้ในกลุ่มและพ่อค้าและนักการเมืองบางคน ท่านรัฐมนตรีให้ผมช่วยดูแล ผมจึงให้สมเกียรติมาช่วยผมในเรื่องนี้อีกคนหนึ่ง ซึ่งสมเกียรติก็ไม่ได้ทำให้ผมผิดหวัง เพราะสามารถดูแลกลุ่มพ่อค้าและนักการเมืองได้อย่างประทับใจ ทำให้สมเกียรติเป็นที่ไว้วางใจและได้ร่วมงานต่าง ๆ ต่อมาอีกหลายงาน มีเรื่องขำ ๆ (หรืออาจจะน่าอาย)ที่พ่อค้าบางคนได้สร้างวีรกรรมบางอย่างในการเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ที่ประเทศลาว ที่มีพ่อค้าบางคนพยายามจะลวนลามข้าราชการลาวสาว ๆที่มาร่วมงานเลี้ยงต้อนรับ ที่พ่อค้าคนนั้น ๆ คงจะคิดว่าเป็นสาวรำวงแบบที่เคยเจอในเมืองไทย ก็เลยต้องถูกตักเตือนอยู่หลายครั้ง วิธีตักเตือนของลาวก็คือ ไม่ให้พนักงานเสิร์ฟบริการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แก่พ่อค้าคนนั้น และให้ข้าราชการของไทยมาบอกว่าให้ระวังอาการสักนิด อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับสันดานที่ “หื่น” ของพ่อค้าบางคน ก็อยากจะให้ไกด์คนลาวพาไปเที่ยวอย่างว่า โดยแบบถามอ้อม ๆ ว่า ที่ประเทศลาวมีที่เที่ยว “แบบธรรมชาติ” บ้างไหม ไกด์ลาวก็ตอบแบบภูมิใจว่ามีอยู่มากมาย ทั้งป่าเขาและแม่น้ำ แต่ที่กำลังเป็นที่นิยมคือไปเที่ยวที่เขื่อนต่าง ๆ ซึ่งก็จะได้ทุกอย่างที่นั่น ถึงตรงนี้พ่อค้าคนนั้นก็พูดขึ้นว่า “บ่แม่น ๆ ธรรมชาติของมนุษย์น่ะมีไหม” ซึ่งก็คงไม่ต้องเดาว่าจากคำพูดนี้ไกด์ลาวจะหัวเราะออกหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คนไทยที่ไปด้วยอับอายเป็นอย่างมาก