แม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตไปเป็นยุควิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และไม่มีการยกเว้นแม้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปนั่นก็คือ “สติ” โดย “พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร” วัดศรีสุดารามวรวิหาร กรุงเทพฯ ได้มาชี้แนวทาง “การเจริญสติวิถีใหม่” บนเวทีธรรมบรรยาย เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ โดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ณ ห้อง 1111AB อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ ถนนสีลม อย่างที่เราทราบกันดีว่า จากที่เราเคยมีวิถีชีวิตแบบปกติเก่า ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตในรูปแบบที่เราเคยทำมาก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นวิถีชีวิตการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป และในที่สุดเราทุกคนก็จะทำจนกลายเป็นเรื่องปกติ เรียกว่า New Normal แม้ว่าสภาพวิถีชีวิตของคนในสังคมจะเปลี่ยนไปแต่สิ่งที่ควรคงไว้กับทุกคนคือ “สติ” พระพุทธศาสนาสอนเรื่องของสติโดยการเปรียบเทียบจากเรื่องง่าย ๆ ให้เห็นได้อย่างชัดเจน การฝึกสติก็เหมือนการฝึกสัตว์ที่มีความซุกซนอย่างลิง ก่อนจะฝึกลิงต้องจับลิงให้ได้เสียก่อน จากนั้นต้องมีหลักหรือตอไม้สำหรับผูก ซึ่งหลักหรือตอที่เราจะเอาลิงไปผูกนี้เปรียบเสมือนอารมณ์ จิตเปรียบเสมือนลิง การทำสมาธิเปรียบเสมือนเชือกที่เราจะนำไปผูกลิง การฝึกในช่วงแรกถึงแม้เราจะมีหลักมีตอสำหรับการผูกก็ดี มีเชือกสำหรับผูกก็ดีแต่ลิงก็ยังดิ้นอยู่ แต่อย่างน้อยลิงก็ทำได้แค่วิ่งล้อมรอบหลักหรือตอที่เราผูกเอาไว้จะวิ่งไปได้ไกลสุดเท่ากับความยาวของเชือกเพียงเท่านั้น ฉะนั้นไม่ต้องตกใจว่าทำไมหลาย ๆ ครั้งที่เรานั่งสมาธิเพื่อฝึกจิต แต่ทำไมหลาย ๆ ครั้งจิตของเราก็ยังแกว่งไปแกว่งมามันเป็นธรรมดาของคนเริ่มฝึกหัดใหม่ การเจริญสติก็คือ การพยายามฝึกคุณสมบัติอย่างหนึ่งของจิตที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติแต่ว่ายังไม่เข้มแข็งมากพอ การฝึกก็คือการที่เราพยายามทำให้ลิงของเราเชื่อง เราจึงต้องฝึกสติเพื่อจะได้มีเชือกอยู่ในมือและผูกยึดจิตของเราไว้กับหลัก แรก ๆ การที่จะเอาลิงไปผูกเชือกไว้มันก็จะซุกซนไปตามธรรมชาติเนื่องจากปกติแล้วลิงจะอยู่ในป่าใช้ชีวิตโลดโผนกระโดดโลดเต้นไปมา เปรียบเสมือนจิตของคนที่ไม่ได้ฝึกสมาธิปล่อยให้จิตเป็นอิสระเป็นความเคยชินของผู้ที่ยังไม่เคยฝึกจิต ซึ่งมนุษย์ทั่วไปก็จะเป็นเช่นนี้จิตมักจะโลดโผนไปในกระแสของอายตนะ พระพุทธเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า “จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ” จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้ นั่นหมายความว่า ความสุขของมนุษย์ ความสุขทางธรรมต้องได้มาด้วยการฝึกไม่มีใครเกิดมาแล้วไม่ต้องทำอะไร พุทธศาสนาเรียกว่า หลักกรรม หลักของการกระทำต้องลงมือทำถึงจะได้มา ฉะนั้นการจะได้ความสุขที่ละเอียด และประณีตอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมต้องได้มาจากการฝึก เมื่อฝึกจิตดีแล้วทางพุทธศาสนาจะใช้คำว่า กัมมนียะ หรือ จิตควรแก่การงาน แปลว่า จิตที่ควรแก่การทำงาน หรือจิตที่สมควรเอาไปใช้งานได้แล้ว งานในทางจิตคือ งานทางด้านวิปัสสนา ในการฝึกจิตเบื้องต้นเรียกว่า สมถะ คือทำจิตให้สงบ ให้เยือกเย็น ให้เข้มแข็ง ให้มีพลัง เมื่อจิตสงบ เข้มแข็ง เยือกเย็น มีพลัง ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว จิตก็สมควรแก่การทำงาน สามารถเอาไปเจริญวิปัสสนารู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะเรียกว่า มีปัญญาที่แหลมคมที่สามารถตัดทำลายกิเลสได้ สงบสยบกิเลสได้ ปัญญาที่ผ่านการฝึกมาแล้วจึงเปรียบเสมือนแสงสว่าง เมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นก็จะไล่ความมืดให้หายไป ปัญญาเปรียบเสมือนอาวุธเหมือนดาบเหมือนมีดสำหรับตัดปัญหาอุปสรรค เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเปรียบเสมือนแสงสว่าง บ้างก็เปรียบเสมือนของมีคม บ้างก็เปรียบเสมือนเพชรที่แข็งแกร่งตัดสิ่งต่าง ๆ ได้ ปัญญาในที่นี้จึงได้มาจากการฝึกจิตฝึกสติก็จะทำให้เรารู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม และสามารถที่จะกำจัดความทุกข์ทางใจได้ ร้อยทั้งร้อยความทุกข์ที่เกิดขึ้นมานั้นเกิดจากจิตปรุงแต่งขึ้นมาทำให้ตัวเองทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ก็จะทุกข์กับสิ่งนั้นเพราะความยึดมั่นถือมั่น จิตที่ฝึกแล้วก็จะมาคู่กับปัญญา มาคู่กับความสงบ ที่ตามมาก็คือความปล่อยวางนำความสุขมาให้ เรื่องสติเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเหมาะสมอย่างยิ่งในการที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ในยุควิถีใหม่ หรือ New Normal ได้อย่างมีความสุข สถานการณ์ของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ขันธ์ 5 ของเราก็ยังเป็นขันธ์ 5 เช่นเดิม จิตก็ยังคงเป็นจิตของเราเช่นเดิม มีชีวิตมีนามรูปอย่างเดิมเพียงแต่สิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ถ้าหากว่าเราคุ้มครองรักษาจิตของเราและฝึกสติของเราให้ดี เราก็จะมีความสุขได้ทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ความสุขหรือความทุกข์อยู่ที่โลกภายในของเราถ้าหากว่าเราสามารถรักษาได้มันก็จะทำให้เรามีความสุข สำหรับผู้สนใจร่วมฟังธรรมบรรยายดี ๆ ในโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” ติดตามรับชมผ่านระบบ live สด ทุกวันศุกร์ เวลา 12:00-13:30 น. ทางช่องทาง facebook fanpage CPALL และสามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ช่องทางเดียวกัน