ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต [email protected] “พวกฮิปปี้จริงๆแล้วเป็นนักคิด หลายสาขาหลายปรัชญา... รวมทั้งศาสนาพุทธด้วย แต่บังเอิญศาสนาพุทธที่แผ่ไปถึงฮิปปี้นั้นไม่ใช่หินยาน แต่เป็นมหายานหนักไปทางเซนและวัชรยานทางทิเบต... ผมเป็นหนึ่งในขบวนการฮิปปี้ กัญชาหรือเซ็กซ์ เป็นส่วนประกอบที่แท้จริง เราเรียกร้องแม้กระทั่งการพูดที่เป็นเสรีซึ่งในอเมริกาไม่มีครับ... อย่าคิดว่ามี อย่านึกว่ามีแต่ประเทศไทยของคุณกับผมเท่านั้น ในอเมริกานั่นแหละถ้าพูดไม่เข้าหูนักการเมือง ก็โดนฆ่าเหมือนกัน” นั่นเป็นคำกล่าวส่วนหนึ่งของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ณ มุมกาแฟร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2542 เมื่อเอ่ยอ้างถึง “หลงกลิ่นกัญชา”... ขบวนการขบถล้มล้างศักดินาดอลลาร์ (Hippies Movement) ซึ่ง ณ วันนั้นผมได้รับเกียรติได้เป็นผู้ดำเนินรายการสนทนากับท่านหลังจากที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ หรือที่เหล่าบรรดาน้องๆนักเขียนที่รักและศรัทธาในตัวท่านเรียกว่า “พี่ปุ๊” ด้วยความรู้สึกที่ถ่อมตนและนอบน้อม ส่วนหนึ่งของการสนทนากันในวันนั้นหลังจากที่พี่ปุ๊ไม่ได้ลงมากรุงเทพฯ... จากเชียงใหม่เป็นเวลาเนิ่นนานคือการได้มีโอกาสพูดถึงหนังสือเล่มที่ผมหลงใหลและปรับเปลี่ยนชีวิตของผมจากความลอยล่องภายใต้สายลม... แสงแดด แม้จะหลงรักในกระบวนการแห่งเสียงดนตรี และเล่นดนตรีกับบทเพลงของเหล่าศิลปินที่ดังก้องโลกอย่าง จิมมี เฮนดริกซ์ จิม มอริสัน เลด แซปปลิน บ๊อบ ไดแลน, ครอสบี้ สติล แนช แอนด์ ยัง คลั่งไคล้ไปกับเสียงซีตาร์ของรวี แชงก้า และหลงติดอยู่กับหนวดเคราและเผ้าผมของ จอร์จ แฮริสัน จาก The Beatles ในยุคท่องตะวันออก ที่ปรับเปลี่ยนแนวทางชีวิตของเขาให้ก้าวข้ามพ้นรูปลักษณ์แห่งภาพลวงตาและเสน่หาภายนอกให้ไปค้นพบ “บางสิ่งอันทรงคุณค่า” ที่ซ่อนลึกอยู่ด้านในที่เต็มไปด้วยแก่นสารของปรัชญา... ก่อนที่จะสิ้นทศวรรษ 1960... ปี ค.ศ. 1969 ผมได้ค้นพบหนังสือเล่มหนึ่ง... เล่มที่ทำให้ผมตื่นตัวตื่นใจในการอ่านและทำให้จิตวิญญาณในเชิงขบถ (Soul Rebel) ของผมได้บังเกิดขึ้น... ผมยังอยู่มัธยมปลายในขณะนั้น แต่เนื้องานและสาระบางอย่างของหนังสือเล่มนี้ได้มากระทบใจผม... มันคือแรงกระแทกที่ทำให้ชีวิตปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แฟชั่นแห่งสมัยนิยม แต่บางขณะมันคือความรังเกียจเดียดฉันท์ ทั้งจากครอบครัว ญาติมิตร คนรอบข้าง หรือแม้แต่ครูบาอาจารย์ในโรงเรียน ผมอยากจะไว้ผมยาว ต้องการทิ้งหนังสือเรียนที่น่าเบื่อหน่ายและแสนจะซ้ำซากจำเจในชั้นเรียน ไปสู่หนทางแห่งการเรียนรู้เพื่อที่จะค้นหา... เป็นผู้สืบค้น (The Searcher) และเป็นผู้แสวงหา (The Seeker) ให้ได้พบกับเสรีภาพและอิสรภาพเพื่อหลุดกรอบแห่งการกักขังด้วยโซ่ตรวนทางจิตวิญญาณ... ผมคิดของผมอย่างนั้นจริงๆและกล้าพูดว่าผมได้ปฏิบัติจริง... ด้วยการทิ้งบ้านเกิดเพื่อมุ่งหาจุดมุ่งหมายใหม่ในชีวิต เรียนรู้ที่จะศึกษาวิถีแห่งความเป็นมาและเป็นไปของเหล่าฮิปปี้ผ่านบทเพลงและนักดนตรีที่ผมบูชา... ผ่านหนังสืออีกมากมายในแนวทางนี้ โดยเฉพาะงานเขียนของกวีอเมริกันคนสำคัญอย่าง “อัลเลน กินสเบิร์ก” ผู้ต่อมาได้ก่อตั้งแผนกกวีนิพนธ์ที่สถาบัน “นาโรปะ” ในโบลเดอร์ รัฐโคโรลาโด เพื่อสอนการเรียนรู้ในแนวทางของ “การภาวนากับกวีนิพนธ์” (Meditation and Poetics)... ผมเติบโตในแนวทางนี้ เพียรพยายามอย่างยากลำบากที่จะเขียนหนังสือเพื่อเรียนรู้ถึงจิตวิญญาณอันเป็นเสรีของชีวิต... และเริ่มไว้ผมยาวจากช่วงเวลาอันคาบเกี่ยวระหว่างกฎเกณฑ์และสำนึกขบถของตัวตนที่ชวนสับสน และไม่เข้าใจในเบื้องต้นนับแต่บัดนั้นมาจนถึง ณ เวลานี้ ทั้งหมดทั้งสิ้นที่มีอยู่และเป็นอยู่... ดำเนินมาและดำเนินไป... จนเป็นการดำรงอยู่ของผม ณ วันนี้ ส่วนหนึ่งที่สำคัญและผมไม่เคยลืมเลือน... คือประกายแห่งการรับรู้และรู้สึกจาก “หลงกลิ่นกัญชา” ที่สำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์ยุคยิ่งใหญ่ได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2513 (ค.ศ.1969) ณ เดือนธันวาคมปีนั้น... ต่อมาอีก 21 ปี เมื่อผมเติบใหญ่สู่วัยกลางคน มีครอบครัว มีลูก และกล้าประกาศกับตัวเองว่าผมได้เลือกทางเดินแห่งชีวิตไปในวิถีที่ผมศรัทธาแล้ว... หนังสือเล่มนี้ได้ถูกจัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยสำนักพิมพ์คนวรรณกรรม และต่อมาอีก 10 ปี เมื่อชีวิตผมล่วงเข้าสู่วัยแห่งการเริ่มต้นของความแก่เฒ่า หนังสือเล่มนี้ก็ได้ถูกจัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยแพรวสำนักพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ.2545... ด้วยปกสีบานเย็นอันบาดจิตบาดใจ... เราช่างอยู่ด้วยกันมาเนิ่นนานเหลือเกิน... ผมถือว่านี่คืออำนาจของวรรณกรรมที่สอนให้ได้พบกับความกระจ่างแจ้ง... หนังสือเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตและจิตวิญญาณของคนคนหนึ่งได้... หนังสือที่ให้ค่าความหมายต่อการแสวงหาอันยิ่งใหญ่ของชีวิตได้... หนังสือที่ไม่ได้นำเสนอเพื่อจุดมุ่งหมายแห่งศาสนธรรมหรือปรัชญาอันล้ำลึก... แต่มันเป็นเหมือนหนังสือต้องห้ามอันตรายสำหรับการบ่มเพาะชีวิตผ่านวิถีจริตแห่งยาเสพติดและกลิ่นอายอันเคลิบเคลิ้มเมามาย เพศรสอันวิจิตรตระการแห่งหัวใจของความเป็นเสรี การแต่งกายที่สร้างรูปลักษณ์ให้เป็นดั่งผู้ปลดเปลือยความเป็นอัตตาให้พ้นไปจากตัวเอง... บางทีมันอาจเป็นความผิดบาปและน่าละอายสำหรับใครบางคนในการอ่านหนังสือเล่มนี้... แต่ผมยังคงให้ความรักและชิดใกล้กับมันอยู่เสมอ... มันเป็นบทพิสูจน์ของความแข็งแกร่งทางจิตวิญญาณที่ผู้อ่านต้องถึงขนาดดิ้นรนที่จะเข้าใจ ต้องรู้จักคำว่าแสวงหาและก่อตัวเพื่อมุ่งสู่หนทางแห่งการแสวงหาภายใต้เลือดเนื้อแห่งความเป็นตัวตนแห่งตน... ไม่ใช่การเดินอยู่ท่ามกลางความมืดมนและบอดใบ้ด้วยศรัทธา (Blind Faith) ด้วยกระแสนิยมแห่งลัทธิบริโภค ธนกิจนิยมหรือวัตถุนิยมที่ท่วมท้นโลกอยู่ในขณะนี้... มันเป็นหนังสือที่บอกกล่าวโดยแท้จริงว่า... “เสรีภาพไม่ใช่การตามใจ... ไม่ใช่คำมักง่ายที่ใครจะลุกขึ้นประกาศตนในเชิงแอบอ้างได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยกายหรือจิตก็ตาม” ’รงค์ วงษ์สวรรค์ อธิบายความถึงความเป็นฮิปปี้ในยุคแสวงหา... ในยุคแห่งบุปผาชนที่บุรุษและสตรีจะสร้างสัญญะต่างๆนานาเพื่อแสดงถึงเสรีภาพและอิสรภาพ... เปิดเปลือยตัวเองอันเป็นสมบัติเฉพาะตน... ไว้ผมยาวเหยียดเพื่อแสดงภาวะของการปลดปล่อยธรรมชาติแห่งตน... คาบดอกไม้ไว้ในปากเพื่อแสดงสัญญะแห่งขบวนการของการต่อสู้ แบกเป้ขึ้นหลังเพื่อเดินทางแสวงหา (Back packer) ไปทั่วทุกมุมโลกในฐานะนักเดินทางไม่ใช่นักท่องเที่ยว อ่านหนังสือเพื่อบูรณาการความเป็นสัจจะร่วมกันแห่งจริยธรรมของโลก (Global Ethic) ฯลฯ เหล่านี้คือแนวทางอันทรงคุณค่าที่ผมได้รับจากหนังสือที่เคยถูกมองด้วยสายตาของความแปลกแยก (Alienation) อย่างถึงที่สุดเล่มนี้ หลังจากที่ไปใช้ชีวิตอยู่ ณ อเมริกาในช่วงหนึ่ง ผ่านมหานครนิวยอร์ก... ซาน ฟรานซิสโก... ได้ใช้ชีวิตร่วมกับหนุ่มสาวแห่งยุคแสวงหา... ได้สัมผัสทั้งความคิดและการทำงานกับเหล่า “บุปผาชน” เหล่านี้ ท่ามกลางความอบอวลแห่ง “บทเพลงดอกไม้” ที่ดังก้องออกมาจากปากของสาวโฟล์กอย่าง “โจอัน เบเอซ” (Joan Baze) หรือสาวร็อคอย่าง “ไข่มุกขาว” “แจนิส จอปปลิน” (Janis Joplin) ฯลฯ รวมทั้งการสดับ เทเนอร์ แซ็กส์ของ สแตน เก็ทซ์ (Stan Ketz) ที่แผดตะโกนด่าทอจริตมายาของผู้ดีตีนบางได้ร่วมอารมณ์อยู่ในภวังค์แห่งเสียงทรัมเป็ตของ “ไมลล์ เดวิส” พร้อมกับการพูดอธิบายความถึงปรัชญาของความสันโดษ การเหยียดเย้ยบรรดาขุนนางแห่งป่าคอนกรีต ตลอดจนยกย่องแบบแผนชีวิตแห่งชาวโบฮีเมียนซึ่งเป็นชนชั้นต่ำ ชนชั้นใต้ถุนแห่งทศวรรษที่ 20 ถึง 30... ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้กลับมาเขียนหนังสือเล่มนี้ที่เมืองไทย บริบทแห่งสังคมอเมริกันยังฝังรากลึกอยู่ในหัวใจของเขา... ซึ่งแต่ละประเด็นล้วนเป็นภาพสะท้อนแห่งยุคสมัยของความวอดวายของทั้งปัจจุบันและอนาคต... ปัจจุบันของวันนั้นกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่อนาคตของวันนั้นก็คือภาวะวิกฤตอันแสนจะสับสนและไร้ระเบียบไร้สาระของวันนี้ “ซาน ฟรานซิสโก ละแวกนอร์ท บีช” เป็นศูนย์กลางแห่งการทักท้วงกิเลสตัณหาของศักดินาดอลลาร์ในสังคมอุตสาหกรรมและความมั่งคั่ง “ความร่ำรวยถือเป็นความชั่วร้ายและผิดบาป” บทเริ่มต้นจากขบวนการที่เรียกว่า “Beat Generation” ที่ลุกขึ้นมาขบถและชิงชังจารีตของอเมริกันผู้บุกเบิก(puritan) และพยายามแสวงหาแนวทางใหม่โดยมุ่งหวังผลแห่งการปลดปล่อยตัวเองและอำนาจเงิน แต่ความผิดรุนแรงของคนกลุ่มนี้ก็คือการเน้นความสำคัญของอารมณ์ที่อยู่เหนือเหตุผล เน้นความโรแมนติกโดยไม่มีการเมือง แต่ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือการหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับตัวเองแบบปัจเจกชน มากกว่าการคำนึงถึงผู้อื่นในวงจรแห่งความทุกข์เดียวกัน... ขบวนการดังกล่าวนี้จึงต้องตายไปในเวลาไม่นานโดยไม่มีจารึกบนหลุมฝังศพ “ตายอย่างไม่มีหรีด น้ำตา นอกจากการถ่มน้ำลายรดจากสังคมเศรษฐีอเมริกัน” นี่คือแบบแผนแห่งการเฝ้าสังเกต... แบบแผนของการเป็นผู้เฝ้าสังเกต (observer) ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เมื่ออยู่ ณ อเมริกา ทั้งนี้เพื่อถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้โดยทรรศนะของตัวเองอย่างไม่มีใครขัดขวาง “เรียนรู้แบบนักเขียนและคนหนังสือพิมพ์ หรืออาจถูกต้องกว่าถ้าพูดว่าเรียนรู้แบบผู้ชายผู้ไม่ผูกพันตัวเองกับแบบแผน (non conformist) แต่ยินดีกับความทุกข์และความสุขว่าเป็นตัวคนเดียวในโลก (ในความคิดของอายุเริ่มต้น 30) ประมาณนั้น” แท้จริงในระบบการศึกษาของอเมริกาที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้ค้นพบก็คือว่า “อเมริกาเป็นประเทศที่มอบเสรีภาพอย่างกว้างขวางในการศึกษา ทั้งระบบบริการและแบบแพง... อเมริกาเป็นประเทศที่ร่ำรวยมหาศาลและยากจนในเวลาเดียวกัน ร่ำรวยสำหรับสังคมด้านที่ร่ำรวย! ยากจนสำหรับความจน!” โรคเรื้อรังที่กำหนดโดยความเอารัดเอาเปรียบ จำแนกชนชั้น แต่เวลาเดียวกัน อเมริกาก็เปิดโอกาสให้อเมริกันชนถีบตัวเองกันอย่างวุ่นวายเพื่อเปลี่ยนชนชั้นในสังคม ความวุ่นวายนั้นหมายถึง “การประท้วงอย่างรุนแรง การขบถทางความคิดกับจารีต การต่อสู้อย่างเคียดแค้น และการฉกฉวยโอกาสอย่างไม่ละอายต่อบาป” นี้หรือคืออเมริกา? นี้ไม่ใช่คำถามแต่เป็น “ความสงสัยของผู้เรียนรู้ชีวิต” ข้อคำถามตรงส่วนนี้ต่ออเมริกาของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ทำให้เขาได้ย้อนกลับไปเรียนรู้ถึงวิถีของหนุ่มสาวส่วนหนึ่งในยุคทศวรรษ 1950 ซึ่งขณะนั้นพวกเขาบ้าคลั่งในการอ่านนวนิยาย “On the Road” ของ “แจ๊ค เคอรูแว็ค” ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ศาสดานอกโบสถ์” และร้านหนังสือ “City Lights Bookstore” บนถนนโคลัมบัส ไม่ใช่ร้านหนังสือที่เนืองแน่นเท่านั้น แต่เป็น “ตะเกียงแห่งปัญญา และเป็นนาฬิกาที่ไม่บอกเวลาของกวี จิตรกร นักเขียน ศิลปิน นางระบำ ไอ้ขี้เมา อีดอกทอง คนบ้า และอัจฉริยะ กระทบไหล่กันในอากาศ อบอวลด้วยดอกไม้และขยะ น้ำลายและกลิ่นเยี่ยวในซอกตึก”... เมื่อมาถึงยุคแห่งทศวรรษ 1960 กำเนิดของ Hippy Movement ละแวก เฮท – แอชเบอรี่ของซาน ฟรานซิสโก โดย “ทิมอธี เลียรี่” ผู้โดนให้ออกจากการเป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแต่ได้กลายมาเป็นผู้รับตำแหน่ง “สาธุคุณแห่งลัทธิสันติสุข”นี้... แท้จริงเขามุ่งหวังปลายทางชีวิตไกลถึงนิพพาน! โดยเขาได้รับการสนับสนุนจากปัญญาชนมากมายอย่าง อัลเลน กินสเบิร์ก หรือ นอร์แมน เมเลอร์ ผู้เขียน “The Naked and the Dead” และ “Advertisement for myself” ในช่วงเวลานี้เองที่บทเพลงได้เปลี่ยนจังหวะและทำนองเป็นการท้าทายระคนเศร้าของ โจน เบเอส, บ๊อบ ไดแลน “หินกลิ้ง” (The Rolling Stones) หรือ รวี แชงการ์... มือซีตาร์ชั้นยอดจากอินเดีย รวมทั้งบทเพลงประเภท “ดื่มด่ำ สูบสันต์” (dope song) ของศิลปินกลุ่มอย่าง “เจฟเฟอร์สัน แอร์เพลน” และกะหรี่ (ผง)... ว่ากันว่าศีลหลายข้อกำหนดว่าฮิปปี้เป็นศัตรูกับความเจริญทางวัตถุ การต่อต้านความละโมบและความริษยาอาฆาต รวมทั้งการเร่งเร้าเพื่อเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ในโลก... พวกเขาปฏิเสธความฟุ้งเฟ้อ รวมทั้งความสะอาดและความเรียบร้อย (มารยาท)... เป็นซ้ายใหม่ การไม่ตัดสินด้วยความรุนแรงแต่รักสงบ รักการนอบน้อมถ่อมตนและเทิดทูนความเป็นเพื่อน... การนำตนเข้าถึงเสรีภาพแห่งความรักและกามารมณ์ ซึ่งเราจะประจักษ์กันอย่างดีในยุคทศวรรษ 1970 ในการต่อต้านสงครามเวียดนามผ่านวาทกรรมอมตะ “Make Love Not War” ซึ่งดูเหมือน จอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ จะเป็นผู้นำในการเล่นบทบาทนี้... เหล่าฮิปปี้ศรัทธาและเป็นสาวกแห่งลัทธิ อ่านนวนิยาย “สิทธารถะ” ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส นักเขียนเยอรมันผู้ท่องตะวันออก (Journey to the east)แบบหนุนหัวนอนเป็นคัมภีร์ และอ่าน “Tibetan Book of the Dead”... ทิมอธี เลียรี่ ได้ค้นคิดคาถาศักดิ์สิทธิ์ 6 คำที่หลายท่านอาจจะคุ้นหูกันดีนั่นคือ “Turn on” อันหมายถึง “การผลักดันตัวตนเข้าในสภาพมึนเมาเพื่อค้นหาทรรศนะกว้างไกลของชีวิต”... “Tune in” คือความหมายแห่ง “การสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยความเมตตากรุณา” (คำนี้ถูกใช้เป็นชื่อสวนที่เป็นนิวาสสถานของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ บนขุนเขาโป่งแยง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ที่เราต่างรู้จักกันดี) และ “Drop Out” ซึ่งก็คือความหมายสำคัญของ “การละทิ้งโลก” ’รงค์ วงษ์สวรรค์’ ไม่ได้เขียน “หลงกลิ่นกัญชา” ที่อเมริกาเหมือนหนังสือบางเล่มของเขา “ผมกลับมานั่งเขียนที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นผมเห็นว่ากรุงเทพฯเกิดอันตรายขึ้นแล้ว คือเพื่อนนักหนังสือพิมพ์เองก็เข้าใจคำว่าฮิปปี้ผิด นักการเมืองสมัยนั้น ถนอม,ประภาส เห็นคนไว้ผมยาวก็บอกว่าเป็นฮิปปี้ นุ่งกางเกงขาดๆก็ว่าฮิปปี้ ไม่เรียบร้อย แต่ไม่เคยถามเลยว่า นุ่งขาดๆเพราะไม่มีเงินซื้อหรือนุ่งขาดเพราะเอามีดโกนมากรีด... ผมเห็นว่าอย่างนี้ไม่เป็นธรรมกับฮิปปี้ ไม่เป็นธรรมกับนักต่อสู้ จึงเขียนหนังสือหลงกลิ่นกัญชาขึ้นมา... พวกเขาเป็นนักต่อสู้กับทุนนิยม ต่อสู้กับอเมริกาที่เป็นนักขูดรีด เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ฮิปปี้ต้องอายุ 30 ขึ้นไป ต้องเรียนมหาวิทยาลัย คุณสมบัติต้องเป็นลูกเศรษฐี หรือไม่รวยมากก็ได้ แต่ต้องมีอุดมการณ์ในการช่วยกันขัดขวางพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จมาจากอุตสาหกรรม” “หลงกลิ่นกัญชา” คือหนังสือแห่งความรักและศรัทธาโดยส่วนตัวของผม แม้มันจะเป็นภาวะเฉพาะตัวในความเป็นปัจเจก แต่ด้วยมิติเชิงประสบการณ์ที่ผมเดินตามรอยการเรียนรู้แห่งชีวิตมาบนเส้นทางสายนี้ด้วยวิถีแห่งการปฏิบัติและทดลองความจริงผ่านการถูกหมิ่นแคลนและภาวะแปลกแยกจากคนที่เคยรักและรู้จัก... ถูกมองเยี่ยงศัตรูหรือตัวประหลาดจากใครบางคนที่มาจากสังคมศักดินาและทุนนิยม แต่ผมก็ผ่านวิกฤตแห่งความสับสนในการเลือกแสวงหาและค้นหาความหมายแห่งความเป็นตัวตนของผมมาได้... “มันไม่เจ็บอย่างที่คิดหรอก” ตรงข้ามผมกลับได้รับทั้งความรื่นรมย์และเข้าใจความง่ายงามของชีวิต และการสร้างคุณค่าให้เกิดแก่หัวใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยความรื่นรมย์และเข้าใจอยู่เสมอมา... อยากให้ทุกท่านที่รัก ’รงค์ วงษ์สวรรค์... รักในภาษาวรรณกรรม และการเล่าเรื่องราวทั้งด้วยภูมิรู้และสุนทรียรสของเขาได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้สักครั้งเพราะนี่คือตัวแทนแห่งความเป็นตัวตนอันแท้จริงที่ไม่เคยหายไปจากความทรงจำ “เป็นความบังเอิญอย่างจงใจที่ข้าพเจ้าชวนตัวเองเข้าไปเดินอยู่ในระหว่างบรรทัดของหนังสือเรื่องนี้ อันเป็นงานเขียนในลักษณะที่อยากจะเรียกว่าเป็นเซไม – ฟิคชั่น อาร์ติเกิล ในขณะที่มีสองอารมณ์ผสานกัน ความสามารถในฐานะเป็นผู้แทนหนังสือพิมพ์และการเป็นนักนวนิยายและดังนั้นเหตุผลและเจตนาในการทำงานชิ้นนี้ จึงได้มีปรากฏอยู่ในบางบทบาทบางวาระของ “หลงกลิ่นกัญชา” ข้าพเจ้าหวังใจว่าจะได้เห็นสีสัน ยินทำนอง และได้สาระจากการอ่านตามอัธยาศัย ขอได้รับความขอบใจอย่างยิ่งจากผู้เขียน” (“ควันบุหรี่หลังแป้นพิมพ์ดีด”... คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก ...สำนักงานหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ อาคาร 6 ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ 18 ธันวาคม 2512)