ศึกซักฟอก “นายกฯ-รมต.” วันที่สามดุ! “เพื่อไทย” แฉ“ศักดิ์สยาม”ตั้ง 8 อรหันต์เปลี่ยนเงื่อนไขประกวดราคาล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก่อนได้ดีเป็นใหญ่ใน “ทอท.” ขู่ร้อง“ป.ป.ช.”ฟันซ้ำ ด้าน“ศักดิ์สยาม”สวนกลับอย่าปะติดปะต่อข่าว-ใช้จินตนาการ ยันรถไฟสายสีส้มทำตามมติ“ครม.-กม.-ตามหลักธรรมาภิบาล” ขณะที่ “ศาล รธน.”รับคำร้อง“ไพบูลย์-สมชาย” วินิจฉัยตั้ง ส.ส.ร. ร่าง รธน.ฉบับใหม่ “ชวน” ถกวิป 3 ฝ่าย ยันพิจารณาร่าง รธน.วาระ 2 ต้องจบสมัยประชุมนี้ “ตำรวจ”สั่งเตรียมกำลัง 81 กองร้อย รับมือม็อบ 18-22 ก.พ.บุกสภาฯ
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.00น. วันที่ 18 ก.พ.64 นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเป็นวันที่สาม
โดย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายฯว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสายสีส้มมีพิรุธ มีไอ้โม่ง และผู้ที่ได้รับประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่บริหารราชการแผ่นดินโดยเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาด เพื่อให้มีสิทธิในกิจการของรัฐทุจริตต่อหน้าที่และปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในหน่วยงานที่กำกับดูแล สมคบกันเพื่อปิดบังการทุจริต เรื่องนี้ต้องถึงป.ป.ช.และหน่วยงานอื่นต่อไป เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้ครม.ไม่ว่าจะมายุคไหน อย่าหาทำแบบนี้เด็ดขาด
“โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมูลค่า1.2 แสนล้านบาท การประมูลโครงการดังกล่าวมีการดำเนินการตามพรบ.ร่วมทุนฯ โดยมีการตั่งคณะกรรมการ 8 อรหันต์ ตามมาตรา36 ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นคนในกระทรวงคมนาคม และมีอำนาจสามารถแก้ไข้เปลี่ยนแปลงการประกวดราคาได้ ต่อมามี บีทีเอส เอกชนที่ซื้อซองประมูลไปแล้วได้ฟ้องศาลปกครอง กระทั่งคณะกรรมการทั้ง8 คนก็ล้มประมูล โดยไม่รอการตัดสินของศาล ขอบอกว่า คณะกรรมการฯได้ใช้เทคนิคทางการกฎหมาย ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิก ซึ่งไม่มีใครทำกันและตนจะบอกว่าตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษา ที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกวดราคา ได้ลาออกจากบริษัทที่ปรึกษาในโครงการสีส้ม กระทั่ง ต่อมาในวันที่ 1 ต.ค.ได้เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทอท. คุมสายงานวิศกรรมการก่อสร้าง และโดยบอร์ดทอท.ตั้งเป็นวาระลับ
“อยากเตือนเอาไว้ว่า ก่อนหน้านี้ศาลก็ได้ตัดสินจำคุก 6 ปี อดีตผู้ว่าฯรฟท. คดีแอร์พอร์ตลิงค์ไว้เป็นอุทาหรณ์ จึงเป็นเหตุให้ผมไม่ไว้วางใจนายกฯ และรมว.คมนาคม”
ต่อมา เวลา 13.00 น. นายศักดิ์สยาม ชี้แจงกรณีนี้ว่า “ผมได้กำชับให้ รฟม. ดำเนินการตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดและตามหลักธรรมภิบาล ผมขอเรียนชัดเจนว่า ที่กล่าวหาว่าการดำเนินการเอื้อประโยชน์ ผมขอถามกลับว่า เอื้อประโยชน์ใคร ใครได้ประโยชน์ เพราะโครงการนี้ ยังไม่มีการประกาศผลว่าใครชนะ ยังไม่มีการเปิดซอง ยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ และท่านนายกฯ สั่งการมาตลอด ผมต้องถามว่า ผิดกฎหมายตรงไหน แล้วเกี่ยวกับรัฐมนตรีว่าคมนาคมตรงไหนที่ไม่กำกับดูแล และผู้อภิปรายท่านเอาข่าวมาปะติดปะต่อ และใช้จินตนาการ”
ขณะที่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญปรึกษา พิจารณาคดีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง(2)กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้า ที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ของสมาชิกรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1)ซึ่งเป็นเรื่องที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอให้รัฐสภา พิจารณามีมติขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่ามีสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยและให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ,นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ,นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนดโดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 3 มี.ค.2564 และนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 4 มี.ค.2564
ขณะที่ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ แถลงผลการประชุมวิป 3 ฝ่าย ว่า ที่ประชุมมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธาน ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และผู้แทนวิปวุฒิสภา โดยมีการได้พิจารณาระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ จะพิจารณาเรื่องด่วนที่ค้างมาจากการพิจารณาครั้งที่แล้ว 2 เรื่อง คือร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ....และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประ โยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ...ซึ่งคิดว่าจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้เสร็จเพื่อให้สามารถตั้งกรรมาธิการศึกษาได้ จากนั้นจะการพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1)ซึ่งจะพิจารณาให้เสร็จไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม แต่จะต้องจบวาระ 2 ในสมัยประ ชุมนี้ และจะต้องมีการเว้นไปอีก 15 วัน เพื่อลงมติวาระที่ 3 ซึ่งจะต้องมีการเปิดสภาสมัยวิสามัญ และยังมี ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... รอพิจารณาต่อด้วย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ได้จัดกำลังตำรวจควบคุมฝูงชน(คฝ.) โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากตำรวจภูธรภาค 1-9 จำนวน 69 กองร้อย สนับสนุนภารกิจ ตามคำร้องขอของกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) เพื่อรองรับสถานการณ์การชุมนุมระหว่างวันที่ 18-22 ก.พ.นี้ อีกทั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)ได้ เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. อีก12 กองร้อย โดยคาดว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะไปรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ ที่บริเวณรัฐสภา แยกเกียกกาย