ในสมัยก่อนเราเรียกเซ็บเดิร์ม ว่าโรคต่อมไขมันอักเสบ  โดยแปลตามตรง ๆ  ของชื่อโรคจากภาษาอังกฤษ ปัจจุบันนี้เราจะคุ้นกับคำที่ว่า “รังแคของใบหน้า” หรือ“รังแค” หรือ “เซ็บเดิร์ม” ซึ่งเป็นโรคเดียวกัน “โรครังแค”  มีตั้งแต่เป็นมากหรือเป็นน้อย ที่เป็นน้อย ๆ แต่ไม่รำคาญ ก็ปล่อยไป เมื่อเริ่มมีการคันมากขึ้น หรือมีขุยสะเก็ดที่เห็นชัด ๆ ตกมาบนเสื้อผ้า อาจซื้อแชมพูกำจัดรังแคมาใช้เอง บางคนปล่อยไปมันก็หาย แต่ถ้าเกิดความรำคาญและเป็นนาน ลามมาถึงไรผม ใบหน้า จุดนี้ต้องเริ่มรักษา รังแคนั้นสามารถลามไปถึงหน้าอกและหลังได้              นพ.รัฐภรณ์  อึ๊งภากรณ์ อุปนายกวิเทศสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยกล่าวว่า  ในบางรายเป็นได้ตั้งแต่เด็ก ๆ เช่น อายุ  2 - 3 เดือนถึง 6 เดือน จะเห็นว่าเด็กบางคนที่เกิดมามีขุยสะเก็ดแดง ๆ ที่ศีรษะ ที่ใบหน้า แต่กลุ่มนี้มักจะเป็นแล้วก็หายไปเองภายใน 1 ปี บางคนอาจเรียกว่าผื่นผ้าอ้อม บางทีเป็นที่ศีรษะหรือในร่มผ้าก็ได้  อีกกลุ่มหนึ่งคือ เซ็บเดิร์มในผู้ใหญ่ มักจะเป็นโรคที่เรื้อรังที่พบบ่อยบริเวณศีรษะ อีกบริเวณที่พบคือ หว่างคิ้ว ง่ามจมูกและหลังหู  ในบางคนถ้าเป็นแล้ว จะเริ่มลามลงมากลางอกและแผ่นหลังลักษณะจะแห้ง ๆ ยิ่งเกา ยิ่งแกะ จะทำให้เป็นมากขึ้น ข้อห้ามของโรคนี้คือห้ามทำอะไรแรง ๆ  สระผมก็ต้องเบา ๆ ห้ามเกา ซับเช็ดหน้าเบา ๆ ทายาก็ไม่ต้องถู ใช้แตะ ๆ เบา ๆ แทน การระคายเคืองไม่ได้เป็นสาเหตุ  แต่จะกระตุ้นโรคให้เป็นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีผื่นบนหน้าอย่าเหมาว่าตัวเองว่าเป็นเซ็บเดิร์ม  ด้วยมีอีกหลายโรคผิวหนังที่จะต้องคิดถึง                โรคเซ็บเดิร์ม นั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นอยู่แล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการกระตุ้น เช่น เครียด อดนอน ใช้ผลิตภัณฑ์ที่รุนแรง ฟอก ขัด ถู สระ  ที่ใบหน้า ย้อมผมก็เป็นได้ หรือบางรายที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น บางคนล้มหมอนนอนเสื่อ ไม่สบาย ผ่าตัด ก็สามารถกระตุ้นทำให้โรคนี้เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งการกระตุ้นแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเครียดแล้วทุกคนจะเป็นเซ็บเดิร์มทั้งหมด ขนตา ก็สามารถเกิดรังแคได้ ในบางรายนั้นขึ้นที่ขอบตาเป็นขุย ๆ  สะเก็ด เลยคิดพาลไปว่าเป็นโรคตา ไปเช็ดถูแรง ๆ ยิ่งเป็นมากขึ้น บางคนไปหายาหยอดตาซึ่งไม่จำเป็น เพราะเป็นที่ผิวหนังที่ขอบขนตา ซึ่งคือรังแคที่ขอบตานั่นเอง                โรคนี้ที่ต้องรักษาเพราะทำให้ความรำคาญและความอายจากขุยสะเก็ดที่ปรากฎให้คนรอบข้างเห็นมากกว่า มีผลต่อชีวิตประจำวันและด้านสังคม ความมั่นใจในตัวเอง การรักษาส่วนใหญ่ถ้ากรณีที่เป็นไม่มาก จะใช้แชมพูกำจัดรังแค ที่มีส่วนผสมของยาขจัดรังแค เช่นสารซิงค์ โพลิไธออน,ไซโคลพิรอกซ์ โอลามีน หรือซีลีเนียม ซัลไฟด์ โดยการสระต้องทำเบา ๆ ห้ามเกา ใช้มือคลึงเบา ๆ แล้วทิ้งไว้อย่างน้อย 2-3 นาที ให้ตัวยาออกฤทธิ์ และสะเก็ดอ่อนตัวหลุดออก แล้วล้างด้วยน้ำธรรมดา                  ในบางรายที่สะเก็ดติดหนังศีรษะหนา  ก่อนสระผมให้ใช้น้ำมันมะกอกแตะที่หนังศีรษะทิ้งไว้ 15 ถ-30 นาทีให้สะเก็ดร่อนนุ่ม ๆ แล้วค่อยสระผม แต่ห้ามแกะเพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เป็นมากขึ้น ในกรณีที่ใช้แชมพูแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องพบแพทย์เพื่อรับแชมพูที่เป็นยา   สำหรับคนที่เป็นรังแคของใบหน้า  อาจใช้ฟองแชมพูสำหรับสระผมให้โดนในบริเวณที่มีผื่น ทิ้งไว้สั้น ๆ สัก 1 นาทีแล้วล้างออกอาจจะช่วยในการรักษาและป้องกันได้ คนที่มีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์มีความเข้มข้นต่าง ๆ  บริเวณศีรษะ แนะนำให้ใช้ความเข้มข้นน้อย ๆ ในรูปของโลชั่นหยอดศีรษะ หรือเป็นยาครีมสำหรับผิวหนังทั่วไป ทาวันละ 1-2 ครั้ง ประมาณ 1-2 สัปดาห์พอดีขึ้นก็หยุด ในบางคนที่เป็นบ่อย ๆ แนะนำว่าการป้องกันคือ ใช้แชมพูขจัดรังแคกับแชมพูปกติสลับกันไป  และเมื่อไหร่ก็ตามเมื่อเริ่มมีอาการรำคาญ ค่อยมาใช้ยาสเตียรอยด์ ในบางรายที่กลัวสารสเตียรอยด์ ก็มียาหลาย ๆ ตัวที่ไม่ใช่สเตียรอยด์   เช่น ยาในกลุ่มยาฆ่าเชื้อรา เพราะบางคนที่เป็นรังแคส่วนหนึ่งของคนไข้จะมีเชื้อรา คือ เชื้อยีสต์หรือเชื้อเกลื้อน สูงกว่าคนปกติทั่ว ๆไปแต่ไม่ต้องกลัว เพราะว่าตัวเชื้อยีสต์กับตัวเชื้อเกลื้อนนี้พบได้บนผิวของทุกคน อาจจะไม่มี 100% แต่ว่าคนไหนก็ตามที่มีผิวหนังมัน   คนที่ออกกำลังกายเหงื่อออกเยอะ ๆ อาจจะมีเปอร์เซ็นต์ของเชื้อเกลื้อนมากกว่าปกติ  ทำให้เกิดรังแคขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นในบางราย การใช้ครีมฆ่าเชื้อรากคีโตโคนาโซล (ตัวแม่แบบคือตัวไนโซรัล) ให้ทาบริเวณที่เป็นเช้า – เย็น ข้อดี คือสามารถใช้ป้องกัน และทาเป็นครั้งคราวได้ ยาทาตัวอื่น ที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์ คือ เรียกว่ายากลุ่ม calcineurin inhibitor ได้แก่ Protopic กับ Elidel  ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง พอเริ่มดีขึ้นก็ลดเป็นวันละครั้ง พอหายก็หยุด ผลข้างเคียงของยา 2 ตัวนี้ คือทาแล้วอาจจะแสบ ๆ คัน ๆ บ้างในช่วงแรก ๆ สามารถใช้ป้องกันได้ในกรณีที่เป็นบ่อย ๆ หรือเป็นประจำ  ใช้ทา สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เช่น จันทร์- พุธ – ศุกร์  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ แต่ถ้าขึ้นมาเยอะมาก  ๆ จะต้องไปใช้ยาสเตียรอยด์ สลับไปมาก็จะสามารถคุมอาการได้    สุดท้ายจะมีครีมที่จัดอยู่ในกลุ่มครีมบำรุงผิวบางตัว ซึ่งมีประสิทธิภาพช่วยในเรื่องของเซ็บเดิร์มได้ดี  ได้แก่ Atopiclair และ Sebclair   สามารถที่จะใช้แทนครีมบำรุงผิวหรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์ได้ในการรักษาและป้องกัน แต่ในกรณีที่หยุดใช้ยาแล้ว ยังมีเห่อขึ้นเป็นครั้งคราว อาจต้องกลับไปใช้กลุ่มยาเบื้องต้น การใช้น้ำเกลือล้างกรณีเป็นเซ็บเดิร์ม มิใช่การรักษา ใช้ได้ในกรณีที่มีสะเก็ดเยอะ ๆ สะเก็ดหนา ๆ หรือหากจะประคบให้ใช้น้ำต้มสุกสะอาดหรือน้ำต้มสุกที่ผสมเกลือ หรือน้ำเกลือที่หาซื้อได้ทั่วไปก็ได้  เพื่อให้สะเก็ดนุ่มอาจจะใช้น้ำมันมะกอกให้สะเก็ดหลุด  โดยให้เอาผ้าก๊อซประคบค่อย ๆ ดึงออกมาเบา ๆ สะเก็ดจะหลุดเอง