รายงาน: เกษตรกรบ้านเกาะวังบ่อ จากทำนาสู่เกษตรผสมผสาน เรียนรู้และต่อยอดในศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กำเนิดขึ้นด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปัจจุบันมีศูนย์ฯ 6 แห่ง พระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรไทยที่วนเวียนอยู่กับเรื่องของปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่ทำกิน และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ปัญหาดินเสื่อม ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ฯลฯ และปัญหาเรื่องความรู้พื้นฐานในด้านการทำเกษตรกรรม ซึ่งในแต่ละภูมิภาคจะมีปัญหา “เฉพาะ” แตกต่างกันไปตามสภาพภูมิศาสตร์ ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้น โดยมีแนวคิดที่สำคัญคือเป็นศูนย์ศึกษาและพัฒนา (Research & Development) เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่และภูมิภาคนั้นๆ ได้เรียนรู้เทคนิค วิธีการแก้ปัญหาจากของจริง ณ สถานที่จริง ซึ่งได้จำลองสภาพโดยรวมทางกายภาพของแต่ละภูมิภาคมาย่อส่วนไว้ ตลอดจนเพื่อให้เป็น “ต้นแบบของความสำเร็จ” หรือตัวอย่างของแนวทางการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจสามารถเรียนรู้และทำตามตัวอย่างได้โดยง่าย และขยายผลความสำเร็จสู่เกษตรกรและชุมชน ด้วยพระราชประสงค์นี้ ศูนย์ฯ จึงเป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิชา การค้นคว้าทดลอง และการสาธิตทางด้านเกษตรกรรม เป็นระบบบริการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียวที่ให้บริการแก่ประชาชนและเกษตรกร เป็นเสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” คือมิได้เป็นเพียงสถานที่ที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งของเท่านั้น หากเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความเคลื่อนไหว มีกิจกรรมต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมด้านการศึกษาและพัฒนาภายใต้ปัญหา ข้อจำกัดและสภาพทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชนนั้นๆ (“แนวพระราชดำริ การพัฒนาสู่ความยั่งยืน” สภาพัฒน์ ก.ย.2563) นายสมโชติ บุญมี ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนหมู่ 13 บ้านดอนขี้เหล็ก ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เติบโตมากับครอบครัวที่ทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้ออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยพ่อแม่ทำการเกษตรเรื่อยมา หลังจากแต่งงานจึงย้ายมาอยู่กับภรรยาที่หมู่ 5 บ้านเกาะวังบ่อ ตำบลเกาะขนุน ยึดการทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่เนื่องจากเป็นคนรักความก้าวหน้า ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ จึงเริ่มปรับเปลี่ยนจากการทำนาเพียงอย่างเดียวมาเป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงด้านการตลาด เช่น ปลูกไม้ผล การเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โค กบ จากการเลี้ยงมาระยะหนึ่งพบว่าเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีกว่าการทำนา จึงมีการลงทุนเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในกิจกรรมต่างๆ เช่น สระน้ำประจำไร่นา พันธุ์ไม้ผล ปุ๋ยหมักเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน การฝึกอบรมความรู้ทางด้านการเกษตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพจนประสบผลสำเร็จ มีรายได้จุนเจือครอบครัว สามารถเป็นแบบอย่างให้กับเพื่อนบ้าน ทั้งยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชนและนักศึกษาที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานเพื่อนำไปปรับใช้ได้ต่อไป “ได้ยึดหลักการทำงานของในหลวง คือความซื่อสัตย์ ความขยัน รู้หลักการวางแผน ได้รับความรู้จากศูนย์ฯ ด้านการบริหารจัดการ ด้านแหล่งน้ำ การเลี้ยงสัตว์น้ำ แล้วนำมาปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง รู้สึกอบอุ่นที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ เข้ามาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ ทำให้มีแนวทางในการตัดสินใจในการประกอบอาชีพ” นายสมโชติ เล่าความประทับใจ อีกหนึ่งตัวอย่างของเกษตรกรบ้านเกาะวังบ่อ จากทำนาสู่เกษตรผสมผสาน เรียนรู้และต่อยอดในศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ