องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกรายงานสถานการณ์โรค ASF ในสุกร ฉบับล่าสุด ชี้ว่า ASF เป็นโรคจากเชื้อไวรัสที่มีผลต่อสุกรและสุกรป่า นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ที่พบการระบาดของโรคในหลายพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศแรกในโซนเอเชีย จนถึงปัจจุบันมีประเทศในเอเชียรวมทั้งอาเซียนที่พบโรคนี้แล้ว 13 ประเทศ คือ จีน มองโกเลีย เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต้ อินโดนีเซีย และอินเดีย จาก 34 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ขณะที่ประเทศไทยยังสามารถรักษาเอกราชไม่ให้โรคนี้มารุกราน คงสถานะ “ประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปลอดจาก ASF” ได้นานกว่า 2 ปี ปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้ง 187,993 ราย ไว้ได้ และยังสามารถสร้างมูลค่าการส่งออก สุกรมีชีวิต เนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์ ในปีที่ผ่านมาได้มากกว่า 22,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 300% อย่างไรก็ตามการส่งออกสุกรคิดเป็นเพียง 5% ของการผลิตรวมของประเทศเท่านั้น ส่วนอีกกว่า 95% เป็นส่วนที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรร่วมกันบริหารจัดการ ไว้เพื่อคนไทยทุกคนได้มีสุกรไว้บริโภคอย่างเพียงพอ ไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อนดังเช่นหลายประเทศประสบอยู่ และยังให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน ด้วยการจำหน่ายสุกรมีชีวิตที่ไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม มากว่า 1 ปี ตัวอย่างของพิษสงของ ASF ที่เห็นได้อย่างชัดเจนเช่น จีนที่นอกจากจะเป็นทั้งผู้ผลิตและบริโภคเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก ยังเป็นผู้นำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศมาป้อนประชากรมากที่สุดของโลก ที่ปริมาณ 4.50 ล้านตัน โดยเฉพาะหลังจากที่โดนโรคนี้ระบาดอย่างหนัก ความต้องการนำเข้ายิ่งเพิ่มเป็นเงาตามตัว ล่าสุด กรมการเกษตร ประมง และการอนุรักษ์ของฮ่องกง จะสั่งทำลายสุกร 3,000 ตัว เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่พบการติดเชื้อที่ฟาร์มสุกรแห่งหนึ่งในย่านชานเมืองเหยินหลง ทางตอนเหนือของฮ่องกงที่มีพรมแดนติดกับจีน ส่วนอีกประเทศผู้ผลิตและบริโภคสุกรรายใหญ่อย่าง เวียดนาม พบว่าต้องสูญเสียสุกรจากผลกระทบของ ASF ไปแล้วราว 6 ล้านตัว แม้ว่าภายในสิ้นปี 2563 ทั้งประเทศจะมียอดรวมแม่สุกรเพิ่มเป็น 3 ล้านตัว เป็นจำนวนสุกรรวมกว่า 26 ล้านตัว หรือเท่ากับ 85% ของระดับก่อนที่โรคนี้จะระบาดก็ตาม แต่ช่วงที่ผ่านมาชาวเวียดนามต้องฝ่าฟันกับวิกฤตราคาสุกรที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยราคาสุกรหน้าฟาร์มในเวียดนามในช่วงเดือนมกราคมนี้ ราคาปรับเพิ่มขึ้นถึง 20.3% จากปลายปี 2563 ปัจจุบันราคาสุกรมีชีวิตสูงถึง 105 บาทต่อกิโลกรัม และรัฐบาลเวียดนามมีการนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมู ในปีที่ผ่านมา รวม 141,140 ตัน เพิ่มขึ้นมากถึง 382% จากปี 2562 และคิดเป็นมูลค่า ราว 10,043.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากถึง 503% ขณะที่ ฟิลิปปินส์กำลังเผชิญปัญหาราคาอาหารจำเป็นที่ทะยาน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยในวิกฤตโควิด-19 โดยประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เตอ กำหนดเพดานราคาเนื้อสุกร-ไก่ เป็นเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา เรื่องนี้กระทบกับผู้ค้าปลีกเนื้อสัตว์ในตลาด อาทิ ตลาดปาโคของกรุงมะนิลา มีผู้ค้ามากกว่า 300 ร้านค้า ตัดสินใจยุติการขายชั่วคราว เพราะไม่สามารถหาซัพพลายเออร์ที่จะขายสินค้าให้ ในราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้ได้ รวมถึงไม่อยากเสี่ยงถูกลงโทษหากไม่ขายตามราคาที่ทางการกำหนด นอกจากนี้ ดูเตอร์เตอ ยังอนุมัติให้มีการนำเข้าเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหา เรื่องนี้มีผลพวงมาจากภาวะโรค ASF รวมถึงพายุไต้ฝุ่นหลายลูกช่วงปลายปีที่แล้ว โดยนักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าราคาสินค้าอาจจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดปี 2564 นี้ ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในวงการเลี้ยงสุกรไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคนไทย จึงพยายามต่อสู้กับโรคที่แสนท้าทายนี้ มาตลอด 2 ปี ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานในส่วนของตัวเองอย่างหนัก เพื่อตั้งป้อมปราการเสริมค่ายกลในการเฝ้าระวังและป้องกันต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ร่วมมือกันอย่างแข็งแกร่ง มีการเสริมมาตรการป้องกันเชิงรุก แม้เกษตรกรทุกคนต่างรู้ดีว่า ต้องใช้เงินทุนมากขึ้นถึง 300 บาทต่อตัว เพื่อการป้องกันที่เข้มงวดนี้ กระทั่งต้นทุนการผลิตดีดตัวไปสูงถึง 77.49 บาทแล้ว ซึ่งใกล้กับราคาขายเต็มที แต่เกษตรกรยังต้องขายหมูในราคาที่ตกลงไว้ แม้ต้องแบกภาระต้นทุนที่หนักอึ้ง คล้ายคนไข้ที่อยู่ในอาการโคม่า คนที่ไหวก็ไปต่อได้ ส่วนที่ไม่ไหวต้องม้วนเสื่อ จึงเห็นหลายฟาร์มเลิกเลี้ยง หรือเข้าเลี้ยงสุกรบางลงเพื่อลดเสี่ยง อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันอาชีพเดียวของพวกเขาไว้ไม่ให้สั่นคลอน และปกป้องห่วงโซ่การผลิตสุกรทั้งเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ ผู้ค้ายาและเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ไว้ รวมถึงป้องกันเศรษฐกิจชาติจากการส่งออกหมูที่นำเงินตราเข้าประเทศถึง 22,000 ล้านบาทต่อปีไม่ให้เสียหาย เกษตรกรที่เหลืออยู่จึงยืนหยัดป้อง ASF ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อคงเอกราชให้กับอุตสาหกรรมหมูไทยและยังช่วยดูแลผู้บริโภคชาวไทยทุกคน โดย : สังวาลย์ สยาม นักวิชาการ ด้านเกษตรปศุสัตว์