นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่าการปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของสหรัฐฯ ล่าสุดไต่ระดับกลับขึ้นไปยืนเหนือ 1.3% ทำจุดสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิด Covid-19 สะท้อนความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงถัดไปที่น่าจะเร่งตัวได้เร็วขึ้นกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้า ยืนยันภาพเศรษฐกิจเข้าสู่ระยะที่ 2 ของการฟื้นตัว
โดยสัญญาณดังกล่าวนอกจากจะบ่งชี้ถึงภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้เร็ว ยังสะท้อนถึงความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเงินเฟ้อที่เร็วกว่าคาด ซึ่งหากพิจารณาประกอบกับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ นำโดย กิจกรรมเศรษฐกิจในภาคการผลิต สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องผ่านระดับ 50 มาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาจนล่าสุดแตะระดับ 60 ในขณะที่การบริโภคฟื้นตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดมาตรการรอบใหม่วงเงิน 1.9 ล้านล้านเหรียญฯ ของสหรัฐฯยังอยู่ในขั้นตอนของสภา คาดว่าจะได้บทสรุปช่วงกลางเดือน มี.ค.บ่งชี้ถึงวัฎจักรเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เริ่มเข้าสู่ระยะที่ 2 ของการฟื้นตัว (ช่วงเฟื่องฟู-เร่งตัวขึ้นสู่จุดสูงสุด)
สำหรับกลุ่มหุ้นวัฎจักรยังได้อานิสงค์บวกได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ พลังงาน ส่งออก ยังโดดเด่น การฟื้นตัวของสหรัฐฯซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจสะท้อนได้สองแง่มุมต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยในระยะสั้น : แนวโน้มตลาดหุ้นจะยังได้อานิสงค์บวกจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแรงหนุนด้านอุปสงค์ที่จะช่วยพยุงราคาน้ำมันดิบให้ทรงตัวในระดับสูง และคาดว่าจะยังเห็นการ Rotation จากสินทรัพย์ปลอดภัย ไปสู่ “สินทรัพย์เสี่ยง” ระยะกลาง : ต้องเริ่มระมัดระวัง เนื่องจากตลาดหุ้นก็ถือเป็นหนึ่งใน Leading Indicator ของเศรษฐกิจ ก็ถือว่าตอบรับภาพดังกล่าวมาแล้วระดับหนึ่ง ทำให้การลงทุนหลังจากนี้อาจจะ “ไม่ง่าย” และในระยะถัดไปอาจจะเริ่มเห็นการ Selective มากขึ้น โดยให้น้ำหนักไปที่ประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัว และการกระจายของวัคซีนทำได้เร็ว
โดยหุ้นกลุ่มวัฎจักร (Cyclical Stock) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่มที่ได้ว่าได้ประโยชน์โดยตรงจากแนวโน้มเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ฟื้นตัวได้เร็ว ยังคงโดดเด่นที่สุด ได้แก่ 1) ธนาคารพาณิชย์: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จะนำไปสู่แนวโน้มดอกเบี้ยที่เริ่มปรับตัวขึ้น (คาดว่า NIM จะผ่านพ้นจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งปีหลัง) และความเสี่ยงของคุณภาพสินทรัพย์ลดลง ซึ่งมองว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์มากที่สุด (KBANK)
2)พลังงาน : การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม เป็นปัจจัยหนุนด้านอุปสงค์ของการใช้พลังงาน น้ำมันดิบ (PTTEP TOP)
3) ส่งออก: กลุ่มอิเล็คโทรนิกส์และกลุ่มอาหาร สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ซึ่งในปี 2021 สภาพัฒน์คาดว่าการส่งออกจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก การค้าระหว่างประเทศ (KCE ฟื้นตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์,CPF อานิสงค์บวกจากอุปทานสุกรที่ยังจำกัด หนุนราคาทรงตัวระดับสูง)