จากที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศแผนบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเพิ่มศักยภาพ และคุณภาพของโรงเรียนในทุกด้าน และให้สามารถบริหารการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นแผนครอบคลุมโรงเรียนทุกพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และได้ประกาศคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะผู้กำกับด้านนโยบาย คณะติดตามนโยบาย และผู้รับผิดชอบการดำเนินการในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นบุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการระดับ 9-10 จากทุกหน่วยงาน มาร่วมมือกันปฏิบัติ
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าแผนบูรณาการทางการศึกษาว่า ได้รับทราบความคืบหน้าการนำเสนอแผนบูรณาการจากผู้รับผิดชอบจังหวัดขนาดเล็ก 15 จังหวัดเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจากนี้ไป ทาง สพฐ.จะนำแผนที่ได้รับมาประชุมหาข้อสรุป และตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง โดยจะรวมกับแผนของจังหวัดขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อจัดทำแผนงบประมาณ โดยจะเริ่มบรรจุในปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า แผนบูรณาการเบื้องต้น เท่าที่ได้ตรวจสอบพบว่า ในหลายจังหวัดผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง มีความยินดี และเห็นชอบกับการบูรณาการโรงเรียนเป็นอย่างมาก เพราะต้องการเห็นบุตรหลานของตนได้มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่มีความพร้อม ทั้งทางกายภาพ รวมถึงงบการสนับสนุน เพราะจะเป็นโรงเรียนที่สามารถมีครูครบชั้น ครบวิชา นักเรียนจะได้รับการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ บางจังหวัดสามารถนำเงินงบประมาณที่ให้กับโรงเรียนเล็กหลายแห่ง มาบริหารจัดการผ่านโรงเรียนคุณภาพชุมชนใหม่ โดยสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ และแตกต่างจากปัจจุบัน ซึ่งนักเรียนจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด
“ผมยอมรับว่า การแก้ปัญหาระบบการศึกษาทั้งระบบเป็นเรื่องที่น่าหนักใจไม่น้อย เป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลสัมฤทธิ์ ระหว่างที่กระทรวงวางแนวทางแก้ไข ยังต้องเผชิญกับอุปสรรค หรือแม้แต่กระแสม็อบเป็นระยะๆ ที่ไม่เข้าใจถึงแนวทางดำเนินการ เพราะตลอด 1 ปีครึ่ง ทางกระทรวง และรัฐมนตรีว่าการได้ลงลึกถึงรากเหง้าของปัญหาการศึกษาไทย และวาง “โร้ดแม๊พ” เพื่อแก้ไขอย่างเป็นระบบ” นายอัมพร กล่าว
ทั้งนี้ แผนบูรณาการด้านการศึกษาทั่วประเทศ ได้แบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจังหวัดขนาดเล็กที่มีโรงเรียนไม่เกิน 200 โรงเรียนมี 15 จังหวัด กลุ่มจังหวัดขนาดกลาง มีโรงเรียนระหว่าง 200-400 โรงเรียน มี 36 จังหวัด และกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีจำนวน 400 โรงเรียนขึ้นไป มี 26 จังหวัด โดยมีเป้าหมายยกระดับโรงเรียนคุณภาพชุมชน การพัฒนาโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และการพัฒนาโรงเรียน Stand alone
นายอัมพร กล่าวว่า แผนบูรณาการนี้เป็นไปตามนโยบายการศึกษายกกำลังสอง ที่ชูเป้าหมายให้การศึกษาไทยพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีความเป็นเลิศ ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดในศตวรรษที่ 21 โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเชื่อมต่อ ที่ทำให้หลักสูตรต่างๆ มีความยืดหยุ่นและเข้าถึงผู้เรียนผู้สอนได้ง่ายขึ้น เป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และที่สำคัญเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า นอกจากแผนบูรณาการทางการศึกษา ซึ่งเป็นแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวแล้ว ทางกระทรวงศึกษาธิการได้เปิดตัวแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (DEEP) และศูนย์พัฒนาบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) ที่มีเป้าหมายระยะแรกในการเพิ่มความสามารถของครูและผู้เรียนผ่านระบบออนไลน์ (Online) และแบบตัวต่อตัว (On site) ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาครูผู้สอนแบบผสมผสาน ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการอบรมต่างๆ โดยในระยะแรกเน้นหลักสูตรพัฒนาความสามารถด้าน ดิจิทัล และภาษาอังกฤษ ซึ่งได้พาร์ทเนอร์ระดับโลกอย่าง ICDL และ Cambridge เข้ามาดูแลเรื่องของหลักสูตรและการทดสอบ ซึ่งมีเป้าหมายในการตั้งศูนย์ภายในโรงเรียนทั่วประเทศ 185 แห่ง
“ด้านสมรรถนะด้านภาษา เรามีแผนนำครูต่างชาติกว่า 20,000 ตำแหน่งเข้ามาสอนในโรงเรียนในสังกัด แบ่งเป็นครูชาวต่างชาติ 10,000 ตำแหน่งและครูชาวจีน 10,000 ตำแหน่ง ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติจาคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ต้องมาประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เสียก่อน จึงยังไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้” นายอัมพรกล่าว และว่า ทาง สพฐ.ได้นำกรอบวิทยฐานะแบบใหม่มาพิจารณาเพื่อวางแนวทางการเติบโตในสายอาชีพของครู โดยไม่จำเป็นต้องเติบโตในสายการบริหารสถานศึกษา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาบุคลาการของกระทรวงยุคใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน
นายอัมพร กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาคุณครูในปัจจุบัน หากนำมาบูรณาการร่วมกับแผนบูรณาการทางการศึกษา จะเป็นการลงหลักปักฐานระบบการศึกษาของไทยใหม่ที่แข็งแรง และจะเป็นการบริหารเงินงบประมาณรายปีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญการวางแนวทางโร้ดแม๊พนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ และจะทำให้นักเรียนได้รับการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ มีองค์ความรู้ที่เหมาะสม เติบโตได้ตามสมรรถนะ และสามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพในอนาคต