จนท.กลุ่มทะเบียนอำเภอเบตง ลงพื้นที่ถ่ายบัตรประชาชน ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง และคนชรา ถึงบ้าน พร้อมเยี่ยมเยียน รับฟังปัญหาในการเดินทางมารับบริการที่อำเภอ เพื่อได้สิทธิ์โครงการเราชนะ
เมื่อวันที่ 16 ก.พ.64 ที่บ้านนายอับดุลมาน เจ๊ะเลาะ บ้านเลขที่ 15/2 ม.5 ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา นางสาวบุศริน เถาวัลย์ ปลัดอำเภอเบตง หน.ฝ่ายทะเบียนและบัตรฯ นำเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ถ่ายบัตรประชาชนเคลื่อนที่ ถ่ายบัตรประชาชน บุคคลที่ไม่สะดวกในการเดินทางมารับบริการที่อำเภอ เช่น ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุ ที่บ้านราโมง หมู่5 ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากอำเภอเบตง
นางสาวบุศริน เถาวัลย์ กล่าวว่า กรมการปกครองได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำบัตรประชาชน ของผู้ป่วยติดเตียง คนชรา หรือผู้พิการที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงมีนโยบายจัดทำบัตรประชาชนนอกสถานที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยสามารถขอรับการบริการได้ในวันเวลาราชการ โดยวันนี้ได้ถ่ายบัตร ปชช. จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง สำหรับการลงพื้นที่นอกจากถ่ายบัตร ปชช.ให้แล้ว ยังเป็นการออกมาเยี่ยมเยียนราษฎร และรับฟังปัญหา ใน ช่วงสถานการณ์โควิด -19 เพื่อเป็นข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้อยู่ดีมีสุขต่อไป
นอกจากนี้การทำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดจะทำให้ประชาชนผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ที่มีจำนวนมากไม่ต้องเดินทางมาต่อคิวเพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะที่ธนาคารกรุงไทย ที่ได้เปิดจุดให้บริการประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน เพื่อลงทะเบียนรับสิทธิ์โครงการเราชนะ ตั้งแต่วันที่ 15-25 กพ 64 ณ ธนาคารกรุงไทย โดยประชาชนผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและไม่เคยลงทะเบียนรับสิทธิ์ช่วยเหลือของรัฐ สามารถนำบัตรประชาชนเพียงใบเดียวมาติดต่อเพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนได้ทันที ส่วนผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด สามารถติดต่อขอทำบัตรได้ ที่ว่าการอำเภอเบตง หรือสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง หน่วยบริการจัดทำบัตรเคลื่อนที่ของกรมการปกครอง หรือสำนักงานหรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายในวันที่ 15-25 ก.พ.64 นี้
นางสาวบุศริน เถาวัลย์ กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอเบตงปัญหาที่พบคือระบบสัญญาณโทรศัพท์ที่จะลิงค์ดึงข้อมูลจากอำเภอในการตรวจสอบประวัติ และอีกอย่างคือปัญหาของผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้สูงอายุ คือเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก ซึ่งทาง จนท.ยังพบปัญหาอีกว่าในการสแกนรอยนิ้วมือนั้นก็เป็นปัญหาเช่นกันซึ่งบางคนรอยนิ้วมือมองแทบไม่เห็น เนื่องจากเป็นผู้ป่วยบ้าง ผู้พิการบ้าง และคนชรา แต่ก็ไม่เกินความสามารถของจนท.ได้โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านนำน้ำมะนาวมาขยี้ที่นิ้ว แช่ไว้สักพัก รอยนิ้วมือจะเห็นเด่นชัดขึ้นมาทันที ทำให้ปัญหาสแกนไม่เห็นรอยนิ้วมือหมดไป