ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เผยว่า วันนี้ (16 ก.พ.64) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วย "การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)" ระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย ซึ่งอุตสาหกรรมเกม เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีโลกและวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ จากผลการสำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของดีป้า พบว่าในปีที่ผ่านมามูลค่าอุตสาหกรรมเกมมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 14 คิดเป็นมูลค่า 29,000 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในปีนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 33,000 ล้านบาท โดยดีป้าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มโอกาสในการสร้างงาน สร้างการลงทุน สร้างกำลังคนให้กับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเกมไทยภายในปี 2564 - 2565 โดยแบ่งเป็น 4 ระยะของอุตสาหกรรมได้แก่ Beginning, Growth, Maturity และDecline
"การส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม เป็นการนำนโยบายด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปสู่การปฏิบัติให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของระบบนิเวศอุตสาหกรรมเกมไทย ผ่านเกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมเกมมาใช้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยได้จัดโครงการ depa Game Accelerator Program เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตและพัฒนาเกมสัญชาติไทยให้มีมาตรฐานก้าวไกลระดับโลก มีกำหนดเปิดตัวโครงการวันที่ 2 มีนาคม 2564 ณ Thailand E-Sports Arena ศูนย์การค้า THE STREET รัชดา"
นายเนนิน อนันต์บัญชาชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมเกมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเปี่ยมศักยภาพ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างมหาศาล สร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย โดยการส่งเสริมและผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างเป็นระบบ สร้างความได้เปรียบพร้อมกับศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย เกิดการพัฒนาความรู้และประสบการณ์แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพและความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและตลาดในระดับสากล

