อธิบดี พช. ลงพื้นที่ติดตาม ให้กำลังใจ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรระยะสั้น รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล เน้นย้ำ ลงมือปฏิบัติจริง ฟื้นฟูทุนเดิม ดิน น้ำ ป่า วิถีวัฒนธรรม นำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ พลิกฟื้นความยั่งยืนสู่ชุมชน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ติดตามให้กำลังใจและให้ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล โดยมีนางประภา ปานนิตยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน วิทยากรจากศพช.นครนายก นายสุนทร แววมะบุตร ร.อ.วารินทร์ ช่างทอง ผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เครือข่ายโคก หนอง นา โมเดล ศูนย์ฯ รุ่นที่ 1 ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยกลุ่มเป้าหมายจากจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 68 คน ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต(CLM) ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 11-15 ก.พ. 2564 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวให้กำลังใจผู้เข้าอบรม สร้างขวัญและกำลังใจในการฝึกอบรมตลอดหลักสูตร รวมถึงการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” จึงถือเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้น โดยมีการฝึกปฏิบัติสร้างหุ่นจำลองการจัดการพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล เพื่อเป็นการเรียนรู้ หลักการออกแบบ บริหารจัดการดิน น้ำ ลม ไฟ คน ตามภูมิสังคมของพื้นที่ ๆ ได้รับโจทย์ โดยการออกแบบต้องบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการนี้ นางประภา ปานนิตยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ได้เชิญอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ชมพื้นที่ฐานเรียนรู้ การออกแบบ โคก หนอง นา ในกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน เอามื้อสามัคคี พัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ของผู้เข้าอบรม จำนวน 3 แปลง ได้แก่ แปลงที่ 1 จังหวัดกาฬสินธุ์ กาญจนบุรี และกระบี่ แปลงที่ 2 จังหวัดปราจีนบุรี และแปลงที่ 3 จังหวัดอุบลราชธานี โดยผู้เข้ารับการอบรมได้ออกแบบพื้นที่ "โคก หนอง นา " บนพื้นที่จริง แบกจอบเสียมไปปฏิบัติจริง กับการเอามื้อสามัคคี พัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ นอกจากนี้วิทยากร ศพช.นครนายก นายสุนทร แววมะบุตร ร.อ.วารินทร์ ช่างทอง ผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เครือข่ายโคก หนอง นา โมเดล ศูนย์ฯ รุ่นที่ 1 ได้ให้ความรู้คำแนะนำตลอดการปฏิบัติ หลังจากเสร็จสิ้นการ "เอามื้อสามัคคี" แต่ละกลุ่มได้ร่วมกันถอดบทเรียนที่ได้จากการทำกิจกรรมโดยได้มีการสำรวจสภาพปัญหา และรับฟังความคิดเห็นต่างๆ จากการปฏิบัติ พบว่า คลองไส้ไก่ลึกไม่พอสำหรับการรับน้ำ ไม่ได้พูดคุยกันให้ชัดเจน ขาดความรู้จะหาความรู้เพิ่มเติม และเน้นการออกแบบพื้นที่เพื่อบริหารจัดการน้ำ ควรมีการเลือกพื้นที่ให้เหมาะกับพืชและพื้นที่ ในการปฏิบัติจริงครั้งนี้ ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในครัวเรือนและชุมชน และมุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม รวมถึงในภาคค่ำ ได้ร่วมกันถอดบทเรียนผ่านสื่อ "วิถีภูมิปัญญาไทยกับการพึ่งตนเองในภาวะวิกฤต" เรียนรู้บุคคลต้นแบบ "พ่อเลี่ยม บุตรจันทา" จากสภาพปัญหาความยากจน สาเหตุความลำบาก การยึดติด และสามารถนำแนวคิดที่ได้รับไปปรับใช้เพื่อไม่ให้มีหนี้สินในครัวเรือนอีกต่อไป นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางรอดของประเทศอยู่ที่ทุกท่าน ที่จะน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีมากกว่า 40 ทฤษฎี และมีวิธีการปฏิบัติให้ได้ศึกษาจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มากกว่า 4,700 กว่าโครงการ และในศูนย์ศึกษาและพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ทุกท่านต้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังให้สมกับความเพียรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชปณิธานในการ สืบสาน รักษาและต่อยอด โดยพระราชทานภาพวาดการ์ตูนฝีพระหัตถ์ ครอบครัวที่เป็นสุขท่ามกลางความสมบูรณ์ของโคก หนอง นา เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบจับต้องได้ ให้ทุกคนรู้ว่าเป็นแนวทางที่ทำให้ไปสู่ความยั่งยืนในชีวิต ก่อให้เกิดเป็นมรรคเป็นผลเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป