เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน โดย “วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน” ร่วมกับ เหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อวิพากษ์ (ร่าง) และสร้างรูปแบบหลักสูตรการฝึกอบรมครูอาสาเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการอ่านออกเขียนได้ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 33 ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้รับเกียรติจากนางธิติพร จินดาหลวง ภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะนายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วย ดร.พุฒชาด จันทร์ดำ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 และผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 336 และ 337 เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย มีครูใหญ่ ครูวิชาการ จากโรงเรียน/ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ศึกษานิเทศก์ จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 และ เขต 2 รวมประมาณ 60 คน เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดขึ้น ณ ห้องประชุมอานนท์ เที่ยงตรง อาคารฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ซึ่งกิจกรรมเริ่มต้นด้วย อาจารย์วินัย ไชยวงค์ญาติ คณบดีวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม จากนั้น อาจารย์ ดร.คมศิลป์ ประสงค์สุข ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรสาขาวิชาการประถมศึกษา กล่าวรายงานต่อประธานพิธีเปิด คือ อาจารย์ ดร.ถนัด บุญชัย รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้กล่าวสรุปภาพรวมของโครงการและเปิดการประชุมตามลำดับ
โดย นางธิติพร จินดาหลวง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงความเป็นมาว่าสภากาชาดไทย ได้จัดทำโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้เด็กนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ในการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ให้มีการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมจากห้องเรียนให้สามารถอ่านออกเขียนได้ โดยโครงการฯ มีวัตถุประสงค์ในการจัด “ครูอาสา” ไปช่วยสอนเสริมให้แก่เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1-6 ที่อ่านภาษาไทยไม่ออกและเขียนภาษาไทยไม่ได้ ซึ่งในส่วนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ขอรับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน โดยมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 และ เขต 2 ร่วมสนับสนุนการดำเนินการ
สำหรับ การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ “วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน” ซึ่งได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยฯ ได้จัดขึ้นสำหรับโรงเรียน/ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน นำร่องจำนวน 15 แห่ง ก่อนที่จะขยายไปให้ครบจำนวน 27 แห่ง ต่อไปในอนาคต โดยมีคณะกรรมการบริหารหลักสูตรสาขาวิชาการประถมศึกษา พร้อมด้วยคณาจารย์ประจำหลักสูตร ทุกคน และนักศึกษาสาขาวิชาการประถมศึกษา ทุกชั้นปี และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รวมประมาณ 80 คน ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน